วิศวฯ มช. แท็กทีม รร.ปรินส์ฯ และ FIRST จัดแข่งหุ่นยนต์ 4th FIRST? Tech Challenge THAILAND ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

8 ธันวาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย พร้อมองค์กร For Inspiration and Recognition of Science and Technology (FIRST) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับเยาวชน FIRST? Tech Challenge Thailand ครั้งที่ 4 “2022 – 2023 robotics season, FIRST? ENERGIZESM presented by Qualcomm” (FTC) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2565 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน ให้สามารถต่อยอดความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) อันตอบสนองต่อแผนการศึกษาชาติที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเยาวชนเป็นผู้สร้างนวัตกรรม มุ่งสู่โลกแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรวมถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างเครือข่ายเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต โดยมีรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถพล สมุทคุปติ์ กล่าวเปิดงาน พร้อมผู้จัดการ-ผู้อำนวยการโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ดร.เกรียง ฐิติจำเริญพร, ผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมด้วย ประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ มช., ประธานคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน, ผู้อํานวยการศูนย์การศึกษานานาชาติทางวิศวกรรมศาสตร์, นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, นายกสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ตลอดจนผู้สนับสนุนการแข่งขัน ผู้บริหารโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ฯ คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ทีมเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศ รวม 17 ทีม 9 โรงเรียน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดในวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 เวลา 09.30 น.ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 100 ปี สถาบันแฮรีส โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย


คณะวิศวกรรมศาสต์ มช. จัดการแข่งขัน FTC ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยต่อเนื่องมานับแต่ปี 2562 โดยร่วมเป็นทีมงานและกรรมการจัดการแข่งขัน ในปีนี้มีคณาจารย์ของคณะฯ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กําพล วรดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน FTC อีกทั้งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพงษ์ จํารูญ ผู้ช่วยคณบดี ประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ร่วมให้ความรู้ ถ่ายทอดเทคนิค วิธีการ รวมถึงกิจกรรมฝึกปฏิบัติการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้แข่งขัน พร้อมเป็นกรรมการตัดสินตามกฏเกณฑ์มาตรฐาน FIRST ซึ่งทีมที่ชนะจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป

ข้อมูลโดย : https://eng.cmu.ac.th/?p=30539