13 เม.ย.นี้ มช. อัญเชิญ “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” ร่วมขบวนแห่สรงน้ำพระ สืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง เชียงใหม่

10 เมษายน 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมืองล้านนา อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญประจำมหาวิทยาลัย “พระพุทธพิงคนคราภิมงคล” ประดิษฐานบนรถบุษบก พร้อมตกแต่งด้วยศิลปะล้านนาอย่างวิจิตรบรรจง ร่วมขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธรูปจังหวัดเชียงใหม่ โดยขบวนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ลำดับที่ 18 และคณะศึกษาศาสตร์ โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ลำดับที่ 19 เคลื่อนขบวนจากสะพานนวรัฐ ผ่านประตูท่าแพ ไปยังวัดพระสิงห์ ในวันที่ 13 เมษายน 2566

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในงานประเพณีสงกรานต์ หรือ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ร่วมพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญจากวัดต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ในขบวนแห่ที่สวยงามอลังการ ในวันมหาสงกรานต์คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกๆ ปี โดยขบวนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเริ่มตั้งขบวนแห่ เวลา 13.30 น.บริเวณสวนสาธารณะหน้าสถานีรถไฟฯ เคลื่อนขบวนแห่ ไปทางสะพานนวรัตน์ ผ่านประตูท่าแพ สิ้นสุดขบวนแห่ที่วัดพระสิงห์ เวลาประมาณ 16.30 น.

          สำหรับรถบุษบกอัญเชิญพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เข้าร่วมขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธรูปจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำโดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมทำนุบำรุง อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของมหาวิทยาลัย ประดิษฐานบนบุษบกปราสาทแบบล้านนา ตกแต่งด้วยดอกเอื้อง หรือดอกกล้วยไม้ อันเป็นพญาดอกประจำปีนี้ ในโทนสีเหลืองและส้ม แสดงถึงความรุ่งโรจน์ สว่างใส ด้านหน้าบุษบกปราสาทประดับด้วยนาค 4 ตัว หมายถึงเทพผู้ให้น้ำ ให้ฝน หมายถึงความอุดมสมบูณ์ของชีวิตที่มีน้ำหล่อเลี้ยงให้เจริญงอกงาม ด้านข้างประดับด้วยช้าง 2 ตัว และใช้ผ้าสีม่วงปิดรอบคันรถ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

         ในส่วนของขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ป้ายมหาวิทยาลัย ขบวนผู้บริหารมหาวิทยาลัย สำนัก สถาบัน ศูนย์ ขบวนช่างฟ้อนและวงดนตรีของชมรมพื้นบ้านล้านนา ขบวนแห่เครื่องสักการะล้านนา ขบวนช่อช้าง รถบุษบกอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามด้วยกลุ่มคณะ สำนัก สถาบัน ศูนย์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเข้าร่วมขบวนอย่างสวยงาม โดยระหว่างขบวนจะมีการบรรเลงปี่แนประยุกต์ สร้างสีสันในบรรยากาศปี๋ใหม่เมือง

         การสรงน้ำพระในวันปีใหม่เมืองนี้ ชาวล้านนาเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตของการเริ่มต้นรอบปีใหม่ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไปพร้อมๆ กับการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

แกลลอรี่