มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมืองต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการเชิงรุกด้านนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน พัฒนาระบบกายภาพมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเป็น Green and Clean University มีการปรับปรุงภูมิทัศน์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ โครงการที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาและขยายผลสู่การพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืน ได้แก่
โครงการ CMU SMART CAMPUS
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมืองอัจฉริยะ พลังงานสะอาด สร้างเมืองแห่งความสุข รองรับความเป็นสังคมอุดมปัญญา ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของโครงการในภาพรวมทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยที่เมืองสามารถสร้างผลประโยชน์ทางพลังงานสุทธิได้จากการผลิต พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์และชีวมวลได้ถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้พลังงานของเมือง พลังงานสะอาดเหล่านี้นอกจากจะนำมาหักลบกับการใช้พลังงานจากการไฟฟ้าในหมู่บ้านและชุมชนแล้ว เมื่อเหลือใช้ยัง สามารถแบ่งปันไปยังหมู่บ้านและชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย สำหรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมมีเป้าหมาย ลดการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอน (Carbon reduction) ในปี 2564 ได้ถึง 25,000 tCO2/y คิดเป็น 40% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปอดให้กับเมืองและชุมชนรอบข้างได้อย่างดี
โครงการศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร
ตัวอย่างต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือ โครงการศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร เนื่องจากขยะมูลฝอยเป็นเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและ มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจรได้ใช้เทคโนโลยีแบบบูรณาการ (Integrated Solid Waste Management) ที่เน้นการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เช่นการแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste to Energy) โดย มุ่งเน้นให้มีระบบการบริหารจัดการขยะในชุมชนแบบครบวงจรตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเกิดขยะจนถึงการกำจัดขั้นสุดท้ายและให้ความสำคัญต่อการนำขยะที่มีศักยภาพกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดและลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งสนับสนุนให้มีการคัด แยกขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อเป้าประสงค์ของกระบวนการการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรโดยปราศจากของเสีย (zero waste) ซึ่งสามารถนำไปขยายผลในหน่วยงานและชุมชนต่างๆ ได้ต่อไป
จากการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า สามารถลดปริมาณขยะที่ตยังคงต้องส่งไปฝังกลบลงเหลือเพียง 7.66% เท่านั้น โดยขยะอื่นๆ สามารถบริหารจัดการได้เองทั้งหมด ดังนี้
ขยะทั่วไป (51.04%) ซึ่งประกอบด้วยขยะอินทรีย์ (16.70%) ถูกนำไปหมักย่อยเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าและปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถตู้สาธารณะ ส่วนพลาสติก (23.30%) ถูกนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF และใช้เป็นส่วนผสมของยางมะตอยกับอิฐบล็อก ปูพื้น สำหรับขยะชีวมวล (5.45%) ถูกนำไปใช้เป็นถ่านกัมมันต์และเชื้อเพลิงอัดแท่ง และสุดท้ายกากไขมัน (2.78%) ได้ถูกนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงดีเซลต่อไป ทั้งนี้ขยะส่วนที่เหลือจะถูกจัดการตามมาตรฐาน เช่น ขยะอันตราย (2.81%) ซึ่งประกอบด้วย ขยะติดเชื้อและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนขยะรีไซเคิลจะส่งไปธนาคารขยะและขายต่อไป
โครงการ Smart Nimman
ย่านนิมมานเหมินท์ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจังหวัด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ในช่วง 20 ปี ที่มีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ ย่านนิมมานฯ จึงเป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งทำให้รถที่สัญจรไปมาผ่านถนนเส้นหลักเฉลี่ย 13,000 คัน ทั้งผู้ที่มาท่องเที่ยวโดยอาศัยทั้งรถส่วนตัว ที่ต้องการพื้นที่จอดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 10 หรือ คิดเป็น 1,300 คัน แต่ในขณะที่จำนวนพื้นที่จอดรถมีจำกัด ทั้งบนถนนหลักนิมมานเหมินท์สำหรับจอดสาธารณะสองข้างถนนทั้งบนถนนหลักและในซอยต่าง ๆ จอดอยู่อย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ประกอบการบางรายให้บริการพื้นที่จอดรถแบบคิดค่าจอด ซึ่งจะมีค่าจอดอยู่ระหว่าง 40 ถึง 60 บาท/ครั้ง
กราฟแสดงผลการนับจำนวนรถที่เข้าสู่ถนนนิมมานเหมินท์จำแนกตามวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น.ถึง 20.00 น.
นอกเหนือจากนี้ย่านนิมมานเหมินท์ยังมีความหน่าแน่นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแต่ในปัจจุบันยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และระบบสนับสนุนข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในย่าน
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ หน่วยงานพันธมิตรในจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาย่านนิมมานเหมินท์ ในเป็นพื้นที่นำร่อง Smart City โดยมุ่งเน้นการพัฒนา ด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โดยมีการออกแบบพื้นที่สำหรับจอดรถ Smart Parking โดยใช้พื้นที่ว่างขนาดใหญ่บริเวณไร่ฟอร์ด(เดิม) ในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมไปยังพื้นที่จอดรถสาธารณะของถนนนิมมานเหมินท์เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาให้แก่ย่านนิมมานเหมินท์และย่านใกล้เคียง โดย โครงการ Smart Nimman มีกิจกรรมหลักดังนี้
กิจกรรมที่ 1 ออกแบบและพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการคมนาคม (Smart Mobility) ได้แก่ การติดตั้งโครงการพื้นฐานด้านกล้อง CCTV, การติดตั้ง Smart Sensor แจ้งเตือนการจอดรถทับเส้นขาวแดง,การพัฒนาจุดจอดรถ และจุดต่อรถ (Park and Ride), การสนับสนุนจุดจอดรถแบบแบ่งปัน (Shared Parking), การจองจุดจอดรถออนไลน์ (Online Booking) และ การชำระเงินแบบออนไลน์ (Online Payment) เพื่อการพัฒนาระบบคมนาคมและการท่องเที่ยวบนถนนนิมานเหมินท์
กิจกรรมที่ 2 ออกแบบและพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิชันเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในย่านนิมมานเหมินท์, โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบข้อมูลสภาวะแวดล้อม เช่น PM2.5, การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านป้ายดิจิทัล (Smart Signage), การพัฒนาระบบ Arificial Intelligence สำหรับการรักษาความปลอดภัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คาดว่าการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและร่วมกับชุมชนโดยรอบ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะยั่งยืน ด้วยการสร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เพิ่มความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการแหล่งท่องเที่ยวในย่านนิมมานเหมินท์ และเพิ่มความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวในย่านนิมาน เหมินท์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านอาชญากรรมในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน