ผลงานวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง The Complexities of Interspecies Somatic Cell Nuclear Transfer: From Biological and Molecular Insights to Future Perspectives ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ International Journal of Molecular Sciences (Published : 2 April 2025)

18 เมษายน 2568

คณะสัตวแพทยศาสตร์

หนึ่งในผลงานวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง The Complexities of Interspecies Somatic Cell Nuclear Transfer: From Biological and Molecular Insights to Future Perspectives ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ International Journal of Molecular Sciences (Published : 2 April 2025) ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล ISI Quartile 1 (Journal Impact factor 4.9), SJR Quartile 1 และ Scopus Tier 1

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://doi.org/10.3390/ijms26073310

การศึกษาเรื่อง The Complexities of Interspecies Somatic Cell Nuclear Transfer: From Biological and Molecular Insights to Future Perspectives เป็นบทวิจารณ์เพื่อรวบรวมบทความทางวิชาการนานาชาติในเวลาเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการโคลนนิ่งโดยใช้เทคนิคการย้ายฝากนิวเคลียสข้ามสายพันธุ์ (iSCNT) ที่มักพบข้อจำกัดการหยุดพัฒนาระหว่างการเจริญเติบโตในตัวอ่อนโคลนนิ่งตั้งแต่ระดับข้ามสายพันธุ์ไปจนถึงข้ามไฟลัม เช่น ตัวอ่อนช้างเอเชียที่ผลิตจากเซลล์ไข่ของสุกร อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการอธิบายกลไกระดับโมเลกุลที่เป็นพื้นฐานอุปสรรคของ iSCNT มาก่อน จากการศึกษาพบว่าอุปสรรคในการเจริญของตัวอ่อน iSCNT มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน ได้แก่ (1) ความไม่เข้ากันระหว่างนิวเคลียสและไซโทพลาสซึม (Nucleocytoplasmic incompatibility) ที่ไปขัดขวางการเจริญของช่องทางการขนส่งนิวเคลียส (Nuclear pore complex) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสาระสำคัญ เช่น Transcriptional factors ที่ส่งผลกระทบต่อการรีโปรแกรมนิวเคลียส และการเริ่มต้นถอดรหัสพันธุกรรมของตัวอ่อน (Embryonic genome activation) (2) ความไม่เข้ากันระหว่างไมโตคอนเดรียและนิวเคลียสของสองสายพันธุ์ (Mitonuclear incompatibility) ที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารระหว่างดีเอ็นเอในนิวเคลียสและไมโตคอนเดรีย (nDNA-mtDNA mismatch) และส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานระดับเซลล์ผ่านห่วงโซ่การขนส่งอิเล็กตรอน (Electron transport chain) ในกระบวนการ Oxidative phosphorylation และ (3) ความไม่เข้ากันจากทั้งสองข้อนี้เชื่อมโยงไปถึงการรีโปรแกรมเอพิเจเนติกส์ที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete epigenetic reprogramming) ซึ่งการค้นพบนี้เป็นข้อมูลล่าสุดที่ทำให้เข้าใจอุปสรรคในตัวอ่อน iSCNT ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเน้นให้เห็นถึงความซับซ้อนที่เชื่อมโยงกัน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีที่จำเพาะและปรับให้เหมาะสมกับการจับคู่ของแต่ละสายพันธุ์ที่นำมาโคลนนิ่งด้วยเทคนิค iSCNT งานวิจัยในด้านนี้อาจเป็นหนทางสู่การเปลี่ยนผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริงในด้านเทคโนโลยีชีวภาพการสืบพันธุ์ การแพทย์ฟื้นฟู และการอนุรักษ์สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่อไป


แกลลอรี่