พิธีมอบรางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2566 และ พิธีเปิดงานเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 (Creative Lanna Festival 2024)

9 ธันวาคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จัดพิธีมอบรางวัลภูมิแผ่นดิน ปิ่นล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อเชิดชูเกียรติประวัติแก่ผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2567 ณ ข่วงพะยอม สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรางวัลภูมิแผ่นดิน ปิ่นล้านนา เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มอบให้กับผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปวัฒนธรรมในภาคเหนือ ซึ่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบันโดยพิธีมอบรางวัลภูมิแผ่นดิน ปิ่นล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2566 นี้ มีผู้ได้รับรางวัลหลากหลายสาขา ทั้งสิ้น จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ 1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดอนลาว สาขาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 2.นายขวัญชัย สุรินทร์ศรี สาขาภาษาและวรรณกรรม 3.นายอานันท์ ราชวังอินทร์ สาขาทัศนศิลป์ 4.นายศักดิ์สิทธิ์ เดชเสาร์แก้ว สาขาศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญางานช่างพื้นบ้าน 5.นางสาวลำดวน สุวรรณภูคำ สาขาศิลปะการแสดงหรือการขับขานพื้นบ้าน 6.นายแดง พิทำ สาขาสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมล้านนา
.
พร้อมกันนี้ มีพิธีเปิดงานเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 (Creative Lanna Festival 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “ฟื้นใจ๋เวียงเจียงใหม่” โดยมีการเล่าเรื่องผ่านพิธีบูชาเวียงเชียงใหม่ ที่ได้จากการค้นพบผ่านจารึกและเอกสารโบราณ ซึ่งได้หยิบยกเอาส่วนหนึ่ง คือการจำลองวิธีบูชาเวียงเจียงใหม่ ของอดีตหลายร้อยปีสู่การถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของงานเทศกาลภายใต้ 7 Themes สร้างสรรค์ร่วมสมัย อันได้แก่ 1. สุขภาพ (Wellness) 2. สถาปัตยกรรมศาสตร์ (Heritage) 3. ศิลปะวัฒนธรรม (Art and Craft) 4. เครื่องแต่งกาย (Costume) 5. อาหาร (Gastronomy) 6. เทศกาล (Festival) 7. ดนตรีและการแสดง (Performing Music and Media) และยังได้รับร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายสถาบัน ในการเข้าร่วมจัดกิจกรรม และนิทรรศการต่าง ๆ ภายในงาน อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้ความร่วมมือของ โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข. - มอ. - มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน Culture Expedition (A.C.E.) และ Art Bridge 27 สาธารณรัฐเกาหลี
.
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจิตวิญญาณล้านนา อาทิ ขบวนแห่จำลองพิธีบูชาเวียงเชียงใหม่ พร้อมด้วยขบวนช่างฟ้อน เครื่องสักการะ การแสดงศิลปะ และดนตรีล้านนา การฉายภาพ Ligth Mapping และ Installation Art สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตล้านนา การจัดนิทรรศการ การเวิร์กช็อปงานหัตถกรรมล้านนาสร้างสรรค์ การเสวนา การฉายภาพยนต์กลางแปลง การบรรเลงดนตรีและการแสดงล้านนาร่วมสมัย รวมทั้งบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และอาหารท้องถิ่นกว่า 60 ร้าน
แกลลอรี่