ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า (Center of Elephant and Wildlife Health) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วม เวทีเสวนาในหัวข้อ ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ในช้างเอเชีย (Impact of Tourism on Animal Welfare Issues in Asian Elephants) ในการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 46 ประจำปี 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567

4 ธันวาคม 2567

คณะสัตวแพทยศาสตร์

ผศ.ดร.สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์ เข้าร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ในช้างเอเชีย (Impact of Tourism on Animal Welfare Issues in Asian Elephants) ในการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 46 ประจำปี 2567 (International Conference on Veterinary Sciences 2024 หรือ ICVS 2024) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ จัดโดยสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ

ธุรกิจการท่องเที่ยวปางช้างนั้นส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของช้างในหลายประเด็น ทั้งด้านการทำงาน โภชนาการ ที่พักอาศัย และการควบคุมช้างด้วยอุปกรณ์ การจัดการที่ไม่เหมาะสมในประเด็นเหล่านี้สามารถทำให้เกิดปัญหาแก่ช้างได้ ดังนั้น การควบคุมการจัดการภายในปางช้างให้มีความเหมาะสม จะสามารถลดผลกระทบต่อสวัสดิภาพของช้างลงได้
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เมื่อปางช้างขาดรายได้จากการไม่มีนักท่องเที่ยวนานกว่า 2 ปี พบปัญหาช้างผอมลง ขาดแคลนอาหารที่มีคุณภาพ และไม่มีกิจกรรมให้ช้างได้ออกกำลังกาย นับเป็นผลกระทบของสถานการณ์การท่องเที่ยวต่อสวัสดิภาพของช้าง

ธุรกิจการท่องเที่ยวปางช้างสามารถเพิ่มสวัสดิภาพของช้างได้ โดยมีความสมดุลระหว่าง (1) กำไร (2) สวัสดิภาพของช้าง และ (3) สวัสดิภาพของควาญช้าง หากปางช้างมีกำไรพอควรย่อมสามารถดูแลให้ช้างและควาญช้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ควาญช้าง เป็นผู้ที่ดูแลช้างอย่างใกล้ชิด หากควาญช้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็ย่อมสามารถดูแลช้างของตนให้มีสวัสดิภาพที่ดีได้
แกลลอรี่