นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ร่วมกับนักวิจัยสหรัฐอเมริกา ค้นพบหอยกระสวยจิ๋ว 3 ชนิดใหม่ของโลก จากเขาหินปูนในจังหวัดสตูล ซึ่งช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของหอยทากบกในประเทศไทย
นางสาวตวงทอง บุญมาชัย นักศึกษาปริญญาเอก สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Prof. Elizabeth A. Bergey จาก Oklahoma Biological Survey, University of Oklahoma, USA และ ผศ.ดร.ณัฐวดี นันตรัตน์ (อาจารย์ที่ปรึกษาวิจัย) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยในหัวข้อ "First record and description of three new species in the land snail genus Diplommatina Benson, 1849 (Caenogastropoda, Diplommatinidae) from Satun Province, Thailand"
คณะนักวิจัยได้ทำการสำรวจหอยทากจิ๋ว (micro land snails; ขนาดเล็กกว่า 5 mm) ในเขาหินปูนบริเวณพื้นที่จังหวัดสตูล และได้ค้นพบหอยกระสวยจิ๋วชนิดใหม่ของโลกสกุล Diplommatina จำนวน 3 ชนิด จากเขาหินปูนในจังหวัดสตูล ดังนี้
1. Diplommatina bulonensis Boonmachai & Nantarat, 2023 หอยกระสวยจิ๋วเกาะบุโหลน ตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบคือ เกาะบุโหลน อ.ละงู จ.สตูล
2. Diplommatina laemsonensis Boonmachai & Nantarat, 2023 หอยกระสวยจิ๋วแหลมสน ตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบคือ ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล
3. Diplommatina prakaiphetensis Boonmachai & Nantarat, 2023 หอยกระสวยจิ๋วประกายเพชร ตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบคือเขาประกายเพชร อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
ทั้งนี้ จากข้อมูลสัณฐานวิทยา และแผนภูมิต้นไม้เชิงวิวัฒนาการ (molecular phologeny) ที่สร้างจากยีนส์ COI และช่วงนิวคลีโอไทด์ 16S rRNA สามารถยืนยันได้ว่าหอยกระสวยจิ๋วทั้ง 3 ชนิด ที่พบในครั้งนี้เป็นชนิดใหม่
การค้นพบในครั้งนี้ มีส่วนช่วยในการเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของหอยทากบกในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยยังคงมีความสำคัญ และจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
การค้นพบหอยทากจิ๋วซึ่งจัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) ในพื้นที่หินปูนในครั้งนี้ ยังเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคุ้มครอง และอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยเขาหินปูนในประเทศไทย รวมถึงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญยังสร้างความตระหนักให้คนหรือองค์กรในพื้นที่เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งนำไปสู่แนวทางการวางแผนเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเข้มแข็งในพื้นที่อนุรักษ์และเขตรักษาพันธุ์
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีโลกสตูล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย ผลการศึกษาในครั้งนี้ จึงสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างจุดเด่น และสร้างจุดขายในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่หรือในอุทยานให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่สำคัญในการนำเสนอเพื่อส่งเสริมในการประเมินของ UNESGO ของอุทยานธรณีโลกสตูลในครั้งต่อไปอีกด้วย
ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาได้ร่วมมือกับทางอุทยานธรณีโลกสตูล (UNESCO Global Geopark) ในการให้ความรู้ ปลูกฝัง และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญและการอนุรักษ์หอยทากจิ๋วกลุ่มนี้แก่ประชาชนผู้สนใจ และชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนต่อไป
ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
Zoosystematics and Evolution
Published : 07 March 2023
https://doi.org/10.3897/zse.99.99030
CR. ภาพเกาะบุโหลน โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)