พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

14 พฤศจิกายน 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์



                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัน บัณฑิตย์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบิดาแห่งฝนหลวง เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น อันกอปรด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระราชอุตสาหะวิริยะ ทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่าน่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ ในการที่จะให้เมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้า มารวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้ง อันเป็นเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ จากส่วนงานองค์กรต่างๆ ร่วมพิธี ณ ศาลาเอนกประสงค์ สำนักงานชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
                 นับแต่วันนั้นมา ทรงถ่ายทอดและพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ร่วมทำการศึกษาทบทวนเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง และให้วิจัยและค้นคว้าหาลู่ทางที่จะทำให้แนวพระราชดำริมีความเป็นไปได้ตั้งแต่ พ.ศ.2498 เป็นต้นมา จนสามารถทำการค้นคว้าทดลองในท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งประสบความสำเร็จตามข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายไว้ สร้างความเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริยิ่งขึ้น จึงได้มีการดำเนินการ ในรูปโครงการค้นคว้าทดลองทำฝนเทียมในปี 2513 โดยให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการมิ ใช่เพียงทรงก่อให้เกิดแนวพระราชดำริขึ้นมาเท่านั้น แต่ทรงร่วมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีที่ทรงค้นพบ ไปประยุกต์ในการปฏิบัติการฝนหลวงหวังผล ด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องใกล้ชิตตลอดมา รวมทั้งทรงบัญชาการปฏิบัติการสาธิตเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และทรงบัญชาการคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงจนเกินกำลังของคณะปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด
                 ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง จึงก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนทรงสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยีในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา นับว่าจุดหมายขั้นตอนการวิจัยแล้ว แต่การพัฒนากรรมวิธียังมิได้สิ้นสุดหรือหยุดยั้งเพียงนั้น ยังทรงพัฒนาเทคนิคที่จะเสริมให้การปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอนกรรมวิธีให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ สภาพอากาศประจำวันในแต่ละช่วงเวลา และฤดูกาลของแต่ละพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการที่แตกต่างกัน และให้สอดคล้องกับทรัพยากรสนับสนุนของแต่ละคณะปฏิบัติการ เช่น เทคนิคที่โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี เมฆอุ่นแบบ SANDWICH” เทคนิคการชักนำกลุ่มเมฆฝนจากเทือกเขาสู่ที่ราบ การชักนำฝนจากพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการ เทคนิคการใช้สารเคมีแบบสูตรสลับกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในหุบเขาให้เกิดฝน เป็นต้น
เทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคการทำฝนจากเมฆอุ่น ใช้ในการปฏิบัติการหวังผล ต่อเมื่อมีแต่เครื่องบินแบบไม่ปรับความดันให้ใช้ในการปฏิบัติการเท่านั้น เทคนิคเหล่านั้นยังคงใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
                จนถึง พ.ศ.2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรงในปี พ.ศ.2541 ต่อเนื่องมาจนถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.2542 ถึงขั้นเกิดภาวะวิกฤติต่อพื้นที่เกษตรกรรม ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อน สภาพสิ่งแวดล้อม (เช่น ไฟป่า น้ำเค็มขึ้นสูง เป็นต้น) และการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ในการปฏิบัติการนี้ นอกจากจะทรงฟื้นฟู ทบทวนเทคนิค และเทคโนโลยีฝนหลวงที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีตแล้ว ยังพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคเพิ่มเติมรวมทั้งทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตี โดยทรงนำผลการทดสอบเทคนิคการโจมตีเมฆเย็นที่สัมฤทธิผลอย่างน่าพอใจ มารวมกับเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH” อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทานให้ใช้เป็น เทคโนโลยีฝนหลวงล่าสุด พระราชทานให้เริ่มใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 เป็นครั้งแรกอย่างได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถกอบกู้ภัยแล้งให้คืนสู่สภาวะปกติได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งและพระราชทานให้ใช้เป็น “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
                จากความสำเร็จในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ในพระราชวโรกาสที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะนักวิทยาศาสตร์และนักบินฝนหลวงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2542 ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินการโครงการพระราชดำริฝนหลวง ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการปฏิบัติการฝนหลวง การปฏิบัติการตามตำราฝนหลวงพระราชทาน รวมทั้งข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทานและทรงให้ถือรูปแบบการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติการฝนหลวง ให้เป็นไปในกรอบและทิศทางเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมเกล้าฯ รับพระบรมราโชบายดังกล่าว มากำหนดเป็นนโยบายมาถือปฏิบัติเป็นนโยบายที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก และได้มีการปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชบายในระหว่าง พ.ศ.2542-2545 อย่างสัมฤทธิผล
               ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ได้ดำเนินก้าวหน้า เป็นขั้นตอนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตามลำดับ และสัมฤทธิผลตามข้อสมมติฐานที่หวังผลอย่างแน่นอนชัดเจนและมีทิศทาง จนปี พ.ศ.2530 จึงได้มีการทำแผนพัฒนาฝนหลวง พ.ศ.2531-2535 เป็นครั้งแรกที่พอจะเรียกว่า เป็น โครงการพระราชดำริฝนหลวงได้ แต่เป็นแผนพัฒนาที่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด หลังจาก พ.ศ.2535 เป็นต้นมา ไม่มีการทำแผนพัฒนาฝนหลวงต่อเนื่องในระยะต่อมา อย่างไรก็ดี ในการดำเนินการ ตามแผนพัฒนาฝนหลวง พ.ศ.2531-2535 มีการจัดตั้งโครงการวิจัยทรัพยากรบรรยากาศประยุกต์ (Applied Atmospheric Resources Research Project) ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการร่วมกันประมวลพัฒนาการของฝนหลวงขึ้นมา (Assessment on the Royal Rainmaking in the Kingdom of Thailand) โครงการวิจัยทรัพยากรบรรยากาศประยุกต์นับเป็นกิจกรรมที่มีแผนงานวิจัยและพัฒนาในรูปโครงการที่มีกำหนดเวลาเป็น 2 ระยะต่อเนื่องกัน ระยะที่ 1 ระหว่าง พ.ศ.2531 – พ.ศ.2537 และระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2538 – พ.ศ.2542 แต่เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ และมีผลยืนยันทางสถิติในระดับหนึ่งแล้ว ไม่มีการทำโครงการอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไปเช่นกันฉะนั้นโครงการลักษณะแม่บทจึงขาดหายไปเป็นช่วงๆ แต่นับว่าโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาวางรูปแบบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไว้อย่างเป็นขั้นตอนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง การปฏิบัติการหวังผลอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน โครงการพระราชดำริจึงได้พัฒนาก้าวหน้ามาถึงระดับนี้ในปัจจุบัน
               กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นองค์กรรองรับ โครงการพระราชดำริฝนหลวง มาตั้งแต่เริ่มแรกโครงการ ได้เสนอในคณะรัฐมนตรีมีมติเฉลิมพระเกียรติในฐานะ พระบิดาแห่งฝนหลวง และให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" เพื่อสนองพระบรมราโชบาย ตำราฝนหลวงและข้อแนะนำทางเทคนิคที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมเกล้าฯ รับมาถือปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผลในช่วงปี พ.ศ.2542-2545 ดังกล่าวข้างต้น ฉะนั้น ในวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเห็นสมควรเป็นอย่างยิ่ง ที่จัดทำ “โครงการพระราชดำริฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น เพื่อให้เป็นแม่บทหลักที่ถาวรในการถือปฏิบัติให้อยู่ในกรอบพระบรมราโชบายไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งและสำนึกในพระกรุณาธิคุณล้นพ้นแล้วยังเพื่อให้ โครงการพระราชดำริฝนหลวง พัฒนาก้าวหน้าสัมฤทธิผลตามพระบรมราโชบาย พระราชประสงค์ และพระราชปณิธานอย่างมั่นคงสถาพรสืบไปชั่วกาลนาน

ข้อมูลประกอบข่าว : ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน http://huahin.royalrain.go.th/prabidaday.php


 
แกลลอรี่