นักวิจัย มช. นำเสนอผลปฏิบัติภารกิจ ณ ขั้วโลกใต้ ในโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์
20 มีนาคม 2567
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ นำโดย ผศ.ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวิจัย ผศ.ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการไทย-ไอซ์คิวบ์ และทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอรายงานผลการปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ และ ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.นพพล เล็กสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย อ.ดร.อฬิญญา พงษ์วาท ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ และ รศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบริหาร 2 สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
การปฏิบัติงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ได้รับทุนพัฒนากลุ่มวิจัย ศูนย์วิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากงบประมาณรายจ่ายจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมี ผศ.ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัย กับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ (IceCube) ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยชั้นนำของโลก และมีนักวิจัยรวมกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 59 สถาบัน ในความร่วมมือครั้งนี้มีเรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมปฏิบัติงานกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ณ หอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณขั้วโลกใต้ใจกลางทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งในการปฏิบัติงานในครั้งนี้เป็นการขนส่งอุปกรณ์และการทดสอบขุดเจาะชั้นน้ำแข็ง จำนวน 2 หลุม ที่ความลึกประมาณ 20 และ 80 เมตร สำหรับเตรียมความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์ Digital Optical Module (DOM) ที่จะดำเนินการในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะขุดเจาะชั้นน้ำแข็งที่ความลึกประมาณ 2,450 เมตร ร้อยลวดติดตั้ง DOM จำนวน 86 เส้น ทั้งนี้เพื่อขยายขีดความสามารถของหอสังเกตการณ์ให้สามารถตรวจวัดนิวทริโนที่ระดับพลังงานกิกะอิเล็กตรอนโวลท์ (GeV)
.
ในการนี้ ผศ.ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการไทย-ไอซ์คิวบ์ ได้กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นดังกล่าว ว่าเป็นการดำเนินงานตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมให้นักวิจัยไทยได้ร่วมทำวิจัยกับกลุ่มวิจัยระดับโลก รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศ ผ่านความร่วมมือกับศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์วิสคอนซิน (Wisconsin IceCube Particle Astrophysics Center หรือ WIPAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเป็นมหาวิทยาลัยเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสมทบ (Associate Member) ของ IceCube Collaboration นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา
.
นอกจากนี้ ผศ.ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล ยังได้นำเสนอแผนการดำเนินงานของโครงการไทย-ไอซ์คิวบ์ ในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์และสาขาอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง ให้กับนักวิจัย และนักศึกษาของไทย ตลอดจนขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับโลก โดยมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านดังกล่าวให้กับประเทศไทยต่อไป
ข้อมูลโดย : สำนักงานบริหารงานวิจัย มช.