เมี่ยง..ชาป่าหมัก ของว่างโบราณยับยั้งมะเร็ง

25 เมษายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์


     เมี่ยง คือ เมี่ยง...หาใช่ “ชาอัสสัม” ที่ฝรั่งล่าอาณานิคมยึดอินเดียเป็นเมืองขึ้น มาตั้งชื่อเรียกใหม่ในภายหลัง

     เมี่ยงเป็นชื่อดั้งเดิมมีมานานร่วม 500 ปี ที่ชนเผ่าไทในแถบภาคเหนือของไทยขึ้นไปจนถึงจีนตอนใต้ใช้เรียกขาน “ชาป่า” ที่นำใบมาหมักทำเป็นอาหารว่างไว้เคี้ยวเล่น ให้ความรู้สึกสดชื่น แก้ง่วง กระตุ้นความขยันในการทำเกษตร ทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเขาสูงไม่สามารถปลูกข้าวได้ นำไปเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นราบที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตดีกว่า

     “เมี่ยงไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้น จากการสำรวจเราพบว่า ชุมชนที่กินเมี่ยงมีอัตราการป่วยต่ำ มีสุขภาพแข็งแรง มีหน้าตาดูอ่อนกว่าวัย อายุ 70 ปี ดูเหมือน 60 ปีเท่านั้นเอง นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันจากไฟป่า เพราะเราพบว่า ที่ไหนปลูกเมี่ยง ที่นั่นจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะชาวบ้านจะช่วยกันรักษาป่า ปกป้องต้นเมี่ยงไม่ให้ถูกไฟป่าเผา”

     ผศ.ดร.ชาติชาย โขนงนุช ผอ.ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเมี่ยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงประโยชน์เล็กๆ ของเมี่ยงที่มีมาในอดีต...แต่ปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้ซึ้งถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ แถมรูปร่างหน้าตา สีสัน รสชาติไม่เป็นที่ถูกปากถูกใจคนรุ่นใหม่ เลยส่งผลให้มรดกภูมิปัญญานี้ ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย

     แต่เมื่อ ดร.ชาติชายและทีมงานวิจัย ได้ทำการศึกษากันแบบเจาะลึกโดยการนำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาทำการวิเคราะห์...กลับพบความมหัศจรรย์ในคุณค่าทางโภชนาการของเมี่ยง มีมากมาย ที่สำคัญมีประโยชน์กับคนยุคใหม่ผจญภัยมะเร็งคุกคาม

     “เป็นความบังเอิญเมื่อ 2 ปีก่อน ไปประชุมวิชาการที่ญี่ปุ่น ได้รู้ว่า ชาโกอิชิ ที่มีในญี่ปุ่นมาเป็น 100 ปี เป็นการนำเทคนิคทำเมี่ยงของคนล้านนามาทำเป็นชาชงดื่ม คือ มีการเก็บใบชามาหมักก่อน แล้วถึงจะนำไปอบให้แห้ง ต่างกับบ้านเราที่หมักเสร็จแล้วกินเลย ไม่มีการอบแห้ง และได้รู้ข้อมูลอีกว่า บริษัทผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกำลังทำวิจัย นำสารสกัดที่ได้จากเมี่ยงไปผสมในเครื่องดื่ม เลยเป็นเหตุผลให้เราต้องรีบทำวิจัยในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นคนไทยอาจจะเสียรู้ต่างชาติ มีของดีอยู่ใกล้ตัว จะรู้น้อยกว่าเขาได้ยังไง”

     ผอ.ศูนย์วิจัยพหุวิทยาการเกี่ยวกับเมี่ยงเล่าถึงที่มาของ แผนงานวิจัยบูรณาการงานวิจัยเมี่ยงเพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และผู้ทรงคุณวุฒิ

     การศึกษาเมี่ยงแบบเจาะลึก ในที่สุดพบว่า...กรรมวิธีหมักเมี่ยงแบบโบราณนั้น ให้สารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อรางกายมนุษย์มากมายอย่างที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน

     “ถ้าอธิบายแบบให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย ใบเมี่ยงถือเป็นวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นที่สำคัญ เมื่อทำการหมักแบบโบราณ เชื้อรา จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ ที่มีประโยชน์ในธรรมชาติจะเกิดตามมา ทำหน้าที่เป็นโรงงานแปรรูปเปลี่ยนสารสำคัญในใบเมี่ยงให้กลายเป็น สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีทั้ง โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ คาเทชิน ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง และยังมีสารแทนนินต้านการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบจุลินทรีย์โพรไบโอติกกลุ่มแล็กติกที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย และไม่พบจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์”

     จากการค้นพบครั้งนี้ ทำให้งานวิจัยต้องขยายวงไปสู่การนำสารสำคัญที่ได้ไปแปรรูปเป็นสินค้าที่เข้ายุคสมัย...เป็นได้ทั้งอาหารขบเคี้ยวสุขภาพแนวใหม่ เป็นส่วนผสมในอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งส่วนผสมในเครื่องสำอางประทินโฉม ที่จะทยอยออกมาให้คนไทยได้สัมผัสในอนาคตอันใกล้

     และเมื่อเมี่ยงอาหารว่างโบราณ ที่กำลังจะลาจาก ได้ถูกพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การปลูกเมี่ยงไม่เพียงจะทำให้เกษตรกรจะได้มีอนาคตที่สดใส...ปัญหาเผาป่าและป่าหดจะหมดไป

     เพราะเมี่ยงเป็นชาป่า ต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ มีป่าถึงจะมีเมี่ยง...ไม่เหมือนไร่ชาที่เรารู้จักกัน ต้องโค่นป่าถึงจะปลูกได้.


ขอบคุณภาพและข้อมูล : https://www.thairath.co.th
 
ข้อมูลโดย : https://www.thairath.co.th
แกลลอรี่