วิทยากรร่วมบรรยายหัวข้อ “รูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business model) ด้านการดักจับใช้งานและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม”

28 มิถุนายน 2566

สถาบันวิจัยพหุศาสตร์

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 – 12.00 น นำโดย รองศาสตราจารย์วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราคม สิริศรีสกุลชัย ผู้ช่วยคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ “รูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business model) ด้านการดักจับใช้งานและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม” ณ ห้องประชุม Executive 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 41 ท่าน (Onsite จำนวน 34 ท่าน และ Online จำนวน 7 ท่าน) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 13 หน่วยงาน ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แสดงรายละเอียดดังตารางแนบ

งานมีวัตถุประสงค์การศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกและการลงทุน สำหรับเทคโนโลยี CCU/CCS ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นโยบายของประเทศไทย โดยสามารถสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emission ทั้งนี้ ข้อมูลผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางด้านเศรษฐศาสตร์ อาทิเช่น ภาษีคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนมาตรการ/นโยบายที่เป็นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนด หรือจัดลำดับความสำคัญของมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยที่มีความเหมาะสม

โดยในช่วงต้นของการบรรยายได้สรุปข้อมูลศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCU/CCS ในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และกลุ่มอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียม (โรงกลั่นน้ำมัน) โดยได้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว มีความสำคัญและเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี CCU/CCS มาใช้เพื่อให้เกิดผลการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่สำคัญในช่วงท้ายของการบรรยายจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเกิดขึ้นของการลงทุน CCS โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน ว่ามีแนวทางใดบ้างที่ภาครัฐจะสามารถช่วยเหลือและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยี CCS ให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย โดยแนวทางนโยบายที่ได้มีการนำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยสามแนวทาง ดังนี้ (1) การใช้นโยบายแรงจูงใจทางภาษี (Tax incentive) โดยการให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีแบบสองเท่า (2) การกำหนดราคาคาร์บอนที่สูงขึ้น เพื่อสร้างตลาดคาร์บอนที่น่าสนใจในการลงทุน (3) รูปแบบการให้เงินสนับสนุน (Grant) จากการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน CCU/CCS ที่ซึ่งมีแนวทางมาจากการหักสัดส่วนภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นต้น

 

 

#CMU #MDRI #พหุศาสตร์ #CCUS #CCS

แกลลอรี่