มช. ชูนโยบายแผน 13 มุ่งสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม

29 ธันวาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ขึ้น เพื่อเป็นแผนกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายสำหรับขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวม ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในระดับพื้นที่และประเทศ อาทิ นักศึกษา ผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต ชุมชน สังคม องค์กรของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ใช้ผลงานทางวิชาการและวิจัย เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยและประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยสมรรถนะหลักที่มุ่งเน้นการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลาย เพื่อสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

         ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระยะ 4 ปี (พ.ศ.2566-2570) งานแถลงข่าวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่าแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม" โดยได้ออกแบบระบบและกลไกการบริหารงานให้สอดรับกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives) ที่กำหนดไว้ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่

  • SO1 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Biopolis Platform)
  • SO2 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ (Medicopolis Platform)
  • SO3 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform)
  • SO4 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการจัดการศึกษา (Educational Platform)
  • SO5 สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Platform)
  • SO6 บริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (CMU Excellence Management Platform)


           พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ปักธงเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม (Innovation University) นับเป็นโจทย์ท้าทายที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน โดยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย นำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งถือเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับบริบททางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Educational Innovation)
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเร่งกระบวนการในการผลักดันการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา เครื่องมือวิจัย องค์ความรู้ งานวิจัยภูมิปัญญา ให้นำไปสู่การใช้งานจริงเพื่อสร้างนวัตกรรมผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) การสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ (ทั้งที่เป็น Hi-Tech Start-up และ Hi-Touch Start-up) รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน (Social Innovation) ที่ต่อยอดความสำเร็จของการเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม สามารถส่งต่อนวัตกรรมไปสร้างความเข้มแข็ง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับภาคประชาชนบนพื้นฐานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างนวัตกรรมระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ

         นโยบายด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ BCG Valley in CMU Biopolis Platform เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาด้าน BCG ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อขยายผลสู่ระดับประเทศและนานาชาติ เช่น Agri Smart Engine for SDGs (เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน): การสร้างระบบการเกษตรที่ทันสมัย ใช้ AI และมีมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ได้ผลผลิตสูง ช่วยให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ ส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดภาระด้านสิ่งแวดล้อม

         นโยบายด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ Medicopolis Platform เช่น “Health Care Service System and Medical Hub” จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพและนวัตกรรมสุขภาพ ตลอดจนสร้างระบบดูแลสุขภาพแบบเชื่อมโยงในกลุ่มโรคที่สำคัญ ที่สามารถเป็นต้นแบบในระดับประเทศ เพื่อดูแลสุขภาพของนักศึกษา บุคลากร และประชาชนเชียงใหม่ ที่จะผลักดันและพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ

          นโยบายด้านล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) เช่น เปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อชาว มช.(Creative Lanna Open Space) เน้นการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ทั่ว มช. ทั้งในรูปแบบ onsite สำหรับงานสร้างสรรค์และออกแบบที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมถึงการทำเวิร์คช็อป การวิจัย การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และยังเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาบุคลากรหรือบุคคลทั่วไปที่ให้ความสนใจด้านงานสร้างสรรค์มาแลกเปลี่ยนไอเดีย และรูปแบบ on cloud ที่เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงาน รวมถึงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าถึง และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์
นโยบาย CMU Smart City เมืองอัจฉริยะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการเมือง บูรณาการเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่า และนำมาต่อยอดให้ใช้งานได้จริง เช่น CMU Open Data ที่จะสร้างระบบการบูรณาการทางด้านข้อมูลในทุกมิติให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทุกส่วนงานแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลระหว่างกันได้ ส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ มีความถูกต้องและรวดเร็ว

          นโยบายด้านการจัดการ PM2.5 ในโครงการพีเอ็ม2.5 และมลพิษที่เกี่ยวข้อง จากพื้นที่สู่ห้องปฏิบัติการสู่การวิจัยทางคลินิก โดยประยุกต์ใช้โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่สร้างสมดุล ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ (Bio – Circular - Green หรือ BCG Economy) เพื่อปัญหาสำคัญของพื้นที่ภาคเหนือ

         นโยบายและการดำเนินการต่างๆ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บรรลุวิสัยทัศน์ของการเป็น "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก"

         ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยได้จัดทำเว็บไซต์นโยบายแผน 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://policy13.cmu.ac.th/ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยได้เผยแพร่ 92 นโยบาย ที่สอดรับกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ 6 ด้านหลัก พร้อมทั้งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย มีช่องทางเปิดรับฟังทุกความเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น


        การก้าวอย่างไม่หยุดนิ่งของทุกส่วนในการดำเนินงานตามนโยบายแผน 13 มช. ได้ตั้งเป้าหมายวิสัยทัศน์ในการบริหารว่า จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย Time Higher Education University Impact Ranking (THE UIR) อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก รวมถึงมุ่งสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Impact) มากกว่า 60,000 ล้านบาท และนำมหาวิทยาลัยให้ได้รับการประเมินคุณภาพองค์กรตามเกณฑ์ Thailand Quality Award อยู่ในระดับ Thailand Quality Class Plus TQC+ (Innovation)

แกลลอรี่