เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 นางสาวธิตินัดดา จินาจันทร์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับหน้าที่วิทยากรบรรยายในประเด็นเรื่อง “เวียงเจ็ดลินในมิติประวัติศาสตร์” ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการประกวดแบบศาลาตาน้ำเวียงเจ็ด ซึ่งกิจกรรมหนึ่งของไซต์เวียงเจ็ดลิน ภายใต้โครงการวิจัย “ลำเหมืองที่หายไป...ว่าด้วยการพลิกฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากสายน้ำ” โดยมี ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก เป็นหัวหน้าโครงการ
โครงการประกวดแบบศาลาตาน้ำเวียงเจ็ดลินเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมการประกวด โดยมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเวียงเจ็ดลินทั้งในมิติของประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา และการประยุกต์ใช้สถาปัตยกรรมไม้ไผ่เพื่อออกแบบศาลาตาน้ำ โดยจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 เดือนกันยายน 2566 ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การบรรยายของนางสาวธิตินัดดา จินาจันทร์ ในประเด็นเรื่องเวียงเจ็ดลินในมิติประวัติศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เข้าใจถึงความสำคัญของเวียงเจ็ดลินในประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย และความสัมพันธ์ที่มีกับสายน้ำทั้ง 7 สายและตาน้ำผุดกลางเวียงเจ็ดลิน
เมื่อเสร็จสิ้นภาคบรรยาย คณะทำงานจึงพาผู้เข้าร่วมอบรมไปเยี่ยมชมพื้นที่จริงของเวียงเจ็ดลินซึ่งปัจจุบันนี้ถูกตัดแบ่งเป็นหลายส่วน โดยส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ของสวนรุกขชาติ ส่วนของตาน้ำผุดอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานปศุสัตว์เชียงใหม่ และส่วนที่เหลืออยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา นอกจากนั้นพื้นที่บางส่วนของเวียงเจ็ดลินคาบเกี่ยวอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงลำน้ำห้วยแก้วที่ไหลไปรวมกันที่อ่างแก้วในปัจจุบันนี้
โครงการประกวดแบบศาลาตาน้ำเวียงเจ็ดลินนี้ จะทำให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เข้าใจ เห็นคุณค่า ของพื้นที่ประวัติศาสตร์เวียงเจ็ดลิน ไม่ว่าจะในเชิงนิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ หรือการออกแบบให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใกล้ตาน้ำผุดเวียงเจ็ดลิน ซึ่งถูกยกให้เป็นตาน้ำศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่โบราณกาล