โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีการระบาดเป็นครั้งคราวในประเทศไทย แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ แต่ยังคงสร้างความเสี่ยงร้ายแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากอาการอาจดูคล้ายหวัดธรรมดาในระยะแรก แต่สามารถลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย
ในช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 มีการรายงานการระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ามีผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคไอกรนประมาณ 2,700 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน สำหรับการระบาดในโรงเรียนที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่ามีรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคไอกรน 51 ราย และเป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 1 เหตุการณ์ ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยันโรคไอกรน 23 ราย อายุมัธยฐาน 16 ปี และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
กลุ่มเสี่ยงสูงสุดของโรคไอกรน คือทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ และในบางกรณี ทารกอาจไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ หากแม่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นระหว่างตั้งครรภ์
โรคไอกรนคืออะไร และติดต่ออย่างไร
ไอกรนเกิดจากแบคทีเรีย Bordetella pertussis ติดต่อจากคนสู่คนผ่านละอองฝอยในอากาศ เช่น ไอหรือจาม นอกจากนี้ การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคติดอยู่แล้วนำมือไปสัมผัสปากหรือจมูก ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้
ระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน (อาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานถึง 3 สัปดาห์)
อาการของโรคไอกรน
อาการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ:
ระยะคล้ายหวัด (1-2 สัปดาห์) :
• ไข้ต่ำ
• น้ำมูกไหล
• ไอเล็กน้อย
• ระยะนี้ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ แม้ยังไม่แสดงอาการรุนแรง
ระยะไอรุนแรง (3-6 สัปดาห์) :
• ไอเป็นชุด ๆ และหยุดหายใจชั่วคราว
• มีเสียง "วู้ป" (Whoop) เมื่อหายใจเข้า
• ไอจนอาเจียนหรือมีเลือดออกในตาขาว
ในกรณีรุนแรง อาจเกิดปอดแตก กระดูกซี่โครงหัก หรือในผู้สูงอายุอาจไอจนปัสสาวะเล็ด
ผู้ป่วยในระยะนี้ ยังคงแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก หากยังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ระยะฟื้นตัว (หลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน) :
• อาการดีขึ้น แต่ยังมีอาการไอหลงเหลืออยู่
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
• เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มอายุต่ำกว่า 6 เดือน
• เด็กโตและวัยรุ่นที่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้น
• ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันลดลง
วัคซีน : เกราะป้องกันสำคัญ
วัคซีนป้องกันไอกรน ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือการติดเชื้อนั้นไม่ได้อยู่ตลอดชีวิต โดยภูมิคุ้มกันมักลดลงหลัง 5-8 ปี
คำแนะนำการฉีดวัคซีน
• เด็กเล็กควรได้รับวัคซีนครบ 5 เข็ม โดยฉีดครั้งสุดท้ายตอนอายุ 4-6 ปี
• หลังจากนั้น ควรได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เริ่มตั้งแต่อายุ 10-12 ปี
• หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกครรภ์
การรักษาโรคไอกรน
หากสงสัยว่าเป็นไอกรน ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อและลดการแพร่กระจาย ในกรณีรุนแรง เช่น หยุดหายใจหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม โรคไอกรนเป็นโรคที่ดูเหมือนหวัดธรรมดาในช่วงแรก แต่สามารถลุกลามจนถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การฉีดวัคซีนครบตามกำหนดและการป้องกันการแพร่เชื้อคือวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยง หากมีอาการที่สงสัย ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการระบาดในวงกว้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์