คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิด Innovation for a new life ห้องคลอดสวนดอกโฉมใหม่ มาตรฐานสากล พร้อมศูนย์วินิจฉัยทารกในครรภ์ระดับสูง ครบวงจร
28 มีนาคม 2568
คณะแพทยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องคลอดแห่งใหม่ ยกระดับมาตรฐานการดูแลแม่และทารกที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวกสบายให้กับคุณแม่และทารกแรกเกิด โดยเน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานการดูแลระดับสูง เพื่อให้ประสบการณ์การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด ณ ชั้น 3 อาคารผ่าตัด สูติกรรม คณะแพทยศาสตร์ มช. ในวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2568 ระหว่างเวลา 09.30-11.00 น. ณ ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมีคณะแพทยศาสตร์ มช.
.
รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ เนื่องมาจากห้องคลอดของหน่วยคลอดและหน่วยผ่าตัดสูตินรีเวชโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการแก่สตรีตั้งครรภ์และผู้ป่วยทางนรีเวชมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุงทางกายภาย เพื่อให้รับบริการได้ประโยชน์สูงสุด
โดยห้องคลอดปรับปรุงใหม่นี้ ถูกออกแบบตามแนวคิด “ระบบทางเดียว” โดยแยกของสะอาดและของสกปรกออกจากกัน ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน พร้อมทั้งใช้วัสดุตกแต่ง เช่น ผนังและฝ้าเพดานที่มีพื้นผิวเรียบ รอยต่อน้อย เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแรงดันอากาศ รวมถึงระบบไหลเวียนและกรองอากาศ เพื่อให้บริเวณเตียงคลอดมีอากาศสะอาดปราศจากเชื้อโรค
.
นอกจากนี้ ห้องคลอดใหม่ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย รองรับการคลอดทุกรูปแบบ รวมถึงภาวะฉุกเฉิน ห้องพักสำหรับคลอดที่เป็นส่วนตัว ออกแบบให้เหมาะกับการผ่อนคลายของคุณแม่ โดยมีทีมแพทย์ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระบบดูแลทารกแรกเกิดแบบครบวงจร ป้องกันภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิด ภายในห้องคลอดยังติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย ทั้งระบบไฟฟ้า หัวจ่ายแก๊ส และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งไม่เพียงช่วยเสริมความปลอดภัยในการรักษาของผู้เข้ารับบริการเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนทางการแพทย์ ให้ผู้เรียนและผู้ปฏิบัติงานสามารถฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและทันสมัย การเปิดตัวห้องคลอดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์และการศึกษาด้านสูติศาสตร์ เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพสูงสุดแก่ทั้งบุคลากรและผู้รับบริการ”
รศ.นพ.กิตติภัต เจริญขวัญ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “หน่วยคลอดของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความพร้อมในการให้บริการสตรีตั้งครรภ์ทุกรายที่มาคลอด ทั้งรายที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติ การคลอดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย และการผ่าตัดคลอด ทั้งนี้ภาวะตั้งครรภ์เสี่ยงสูงหรือภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย 10 อันดับแรกในสตรีตั้งครรภ์ที่มาคลอดในปี พ.ศ. 2567 ได้แก่โรคเบาหวาน ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ความดันโลหิตสูง (ครรภ์เป็นพิษ) ทารกโตช้าในครรภ์ ทารกท่าก้น น้ำเดินก่อนกำหนด ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เนื้องอกมดลูก คอพอกเป็นพิษ และรกเกาะต่ำ บ่อยครั้งที่ภาวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18 ของการคลอดทั้งหมดในปี พ.ศ.2567 รวมถึงเพิ่มความจำเป็นในการผ่าตัดคลอดอีกด้วย ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมส่งมอบการดูแลที่ปลอดภัยให้กับมารดาและทารก รวมถึงผู้ป่วยทางนรีเวช ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง”
.
ด้านรศ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ศูนย์วินิจฉัยทารกในครรภ์ (Fetal Diagnostic Center หรือ Fetal Center) เป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และดูแลรักษาทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงช่วงแรกหลังคลอด ครอบคลุมทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูง พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทารกในครรภ์ และส่งเสริมการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
จุดเด่นของศูนย์ คือสามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกตั้งแต่ไตรมาสแรก ตรวจโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ และโรคหายากอื่น ๆ โดยการเจาะชิ้นเนื้อรก ทั้งนี้ศูนย์วินิจฉัยทารกในครรภ์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจชิ้นเนื้อรกมากที่สุดในประเทศ
.
ศูนย์ฯ ยังมีความเชี่ยวชาญด้านหัตถการเฉพาะทาง เช่นการเจาะเลือดสายสะดือของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์เดียวในภาคเหนือที่สามารถรักษาทารกในครรภ์โดยการเติมเลือด หรือ การส่องกล้องรักษาครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้เพื่อให้มารดาที่ตั้งครรภ์ ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และดำเนินการคลอดอย่างปลอดภัยที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://cmu.to/lPMYb
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU