สร้างนวัตกรรม เพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ

28 เมษายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

     คณาจารย์ นักวิจัย มช. ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หมอกควัน รวมถึงการลดการเกิดหมอกควัน อาทิ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ประดิษฐ์พัดลม DIY เครื่องแอร์ DIY เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ 205 ตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ ได้คิดค้นเครื่องฟอกอย่างง่าย เพื่อแจกให้กับชุมชนในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ
     แนะนำ 2 วิธี ให้ประชาชนสามารถทำระบบกรองอากาศที่บ้านอย่างง่าย ในราคาประหยัด ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในอาคาร
วิธีแรก พัดลม DIY อุปกรณ์สามารถหาได้ง่ายและมีราคาถูก ได้แก่ พัดลม แผ่นกรองอากาศ HEPA และเทปกาววิธีทำก็แสนง่ายโดยนำแผ่นกรองอากาศ HEPA (แผ่น HEPA จะต้องซื้อราคาอยู่ที่แผ่นละ 30 บาท) มาติดบริเวณด้านหลังของพัดลม เว้นรูตรงกลางเพื่อให้ระบายอากาศ ซึ่งถือว่าช่วยกรองฝุ่นได้ประมาณ 80% ทั้งนี้ หากห้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่านี้ต้องใช้จำนวนพัดลมมากขึ้นไปตามสัดส่วน
     อย่างไรก็ตามการใช้งานเครื่องฟอกอากาศราคาประหยัดที่ทำเองนี้ให้ได้ผลดีที่สุดจะต้องใช้ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่างและเปิดใช้งานเครื่องตลอด ส่วนอายุการใช้งานของแผ่นกรองอากาศ 1 แผ่นนั้น จากที่ทดสอบในช่วงที่ผ่านมาสามารถใช้งานได้ประมาณ 4 สัปดาห์ แล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่ แต่หากคุณภาพอากาศแย่มากจะมีอายุการใช้งานลดน้อยลงไป ซึ่งอาจจะเป็น 2 สัปดาห์

วิธีที่ 2 เครื่องแอร์ DIY อุปกรณ์ มีเพียง 2 อย่างเท่านั้นคือ แผ่น HEPA และเทปกาวเพื่อยึดติด นำแผ่นกรองอากาศจากแอร์ออกมาล้างทำความสะอาด และเช็ดให้แห้ง แผ่น HEPA ติดให้รอบแผ่นกรองและใส่ในเครื่องแอร์ที่เดิม (การติดแผ่นกรองถ้าเครื่องแอร์มีแผ่นกรอง 2 แผ่น ให้ติด HEPA แค่ 1 ตัว เพราะอีกตัวจะให้ระบายอากาศ ) หากเปิด 1 ชั่วโมง ช่วยกรองฝุ่นได้ประมาณ 70%


คณะวิศวกรรมศาสตร์
     แนะวิธีการประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศที่ทุกคนสามารถหาอุปกรณ์ได้จากท้องตลาดทั่วไปหรือร้านค้าออนไลน์ แล้วนำมาประกอบใช้เองได้โดยไม่ยุ่งยาก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการดูแลตัวเอง ด้วยพัดลมดูดอากาศและไส้กรองอากาศที่มีจำหน่ายทั่วไป



มช. ร่วมมือภาครัฐติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ 205 ตำบล ในเชียงใหม่
     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมช่วยหน่วยงานภาครัฐ ในการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครบ 205 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่
     นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งเพื่อคืนลมหายใจบริสุทธิ์ให้ชาวเชียงใหม่และภาคเหนือ โดยได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อนอันดับแรก มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM10, PM2.5 และ PM1.0 แบบ real time ให้ครบ 205 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการติดตั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 1 เครื่อง ทั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลปริมาณฝุ่น PM10, PM2.5 และ PM1.0 เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ พร้อมทั้งคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศจากจุดตรวจวัดดังกล่าวทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ รายงานดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่รายชั่วโมงจากจุดตรวจวัดทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ ทางเว็บไซต์และ Application ในโทรศัพท์มือถือ แปลผลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่ และแจ้งเตือนประชาชนในการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเป็นรายชั่วโมง แจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ อาศัยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศในการสื่อสารและส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการเผาขยะ และช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวังชุมชนของตัวเอง

แกลลอรี่