อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. เปิดบ้าน NSP แนะนำพื้นที่นวัตกรรมสร้างสรรค์แบบ Total Innovation Solutions

21 กุมภาพันธ์ 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์


      อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) จัดกิจกรรมพิเศษต้อนรับสื่อมวลชน “เปิดบ้าน NSP แนะนำพื้นที่นวัตกรรมสร้างสรรค์แบบ Total Innovation Solutions” ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) พร้อมโชว์ผลงาน 2 Startup Success Case ศิษย์ลูกช้าง มช. สร้างชื่อจากการใช้เทคโนโลยีสร้างแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม HORGANICE และนวัตกรรมเครื่องต้นแบบ Micro PAW System


     วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมพิเศษ เชิญสื่อมวลชนร่วมงาน “เปิดบ้าน NSP แนะนำพื้นที่นวัตกรรมสร้างสรรค์แบบ Total Innovation Solutions” เพื่อสร้างการรับรู้และตอกย้ำในพันธกิจที่ต้องการสนับสนุนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมแก่ภาคเอกชน โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ นำชมพื้นที่ให้บริการเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมแนะนำ 2 Startup ที่ประสบผลสำเร็จจากการสนับสนุนโดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยยาลัยเชียงใหม่ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยกล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานในส่วนงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีพันธกิจหลักในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างองค์ความรู้และอาจารย์นักวิจัยจากภาคมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า University Industry Linkage : UIL เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มศักยภาพต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มต้น (Tech Startups) บนพื้นฐานของการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ยังมีพันธกิจในการเป็นแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการให้บริการนวัตกรรมครบวงจรแบบ Total Innovation Solutions พร้อมให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับภูมิภาคที่ครบครันแห่งแรกของประเทศ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแม่ข่ายดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัยเครือข่ายในเขตภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

     ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อุทยานฯ สนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจแก่ภาคเอกชนด้วย 6 บริการ ได้แก่ การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยให้บริการห้องปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ ทั้งทดสอบ สอบเทียบ วิเคราะห์ และด้านอื่นๆ ที่ภาค เอกชนต้องการ, การให้บริการด้วยโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี พร้อมให้คำปรึกษาตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการนำธุรกิจออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์, การให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้งานได้จริง ในภาคธุรกิจ, การจับคู่ทางธุรกิจและแนะนำแหล่งทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดการลงทุนของภาคเอกชน, การให้บริการพื้นที่สำนักงานและห้องประชุมหลากหลายขนาดที่เหมาะกับทุกธุรกิจ, และการให้บริการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ช่วยเติมเต็มสภาพแวดล้อมนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ตอบสนองไลฟ์สไตล์ การทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเปิดเผยข้อมูล ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ (25 พ.ค. 2561 – 31 ม.ค. 2562) อุทยานฯ ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน จำนวนกว่า 45,100 คน ในการเข้าเยี่ยมชมเพื่อศึกษาดูงานในฐานะองค์กรต้นแบบด้านการพัฒนานวัตกรรม สามารถผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกเพื่อสร้างนวัตกรรมผ่านการให้บริการต่างๆ โดยก่อให้เกิดการจ้างงานเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยพัฒนาจำนวน 108 อัตรา สร้างมูลค่าการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนกว่า 120 ล้านบาท และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 328 ล้านบาท โดยคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2567) อุทยานฯ จะสามารถผลักดันให้เกิดการจ้างงานระดับบัณฑิตศึกษาสู่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 5,640 อัตรา เกิดการจ้างงานสำหรับนักวิจัยในภาคมหาวิทยาลัย 1,636 อัตรา สร้าง Tech Startup ที่มีความเชี่ยวชาญได้ถึง 700 ธุรกิจ พร้อมเกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพื่อการทำ R&D กว่า 546 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 24,240 ล้านบาท

     นอกจากนี้ อุทยานฯ ได้โชว์ผลงาน 2 สตาร์ทอัพ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สร้างชื่อจากการใช้เทคโนโลยีสร้างระบบบริหารงานหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ HORGANICE ที่ตอบโจทย์ ความต้องการเจ้าของหอพักและผู้เช่าได้อย่างครอบคลุม และผู้สร้างนวัตกรรมเครื่องต้นแบบ Micro PAW System ด้วยการนำเทคโนโลยีพลาสมาช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในภาคครัวเรือนและ ภาคธุรกิจ โดยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุค 4.0
 

ข้อมูลโดย : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่