แพทย์โรคติดเชื้อ มช.ชี้โนโรไวรัส ไม่ใช่โรคใหม่ พบการระบาดในไทยก่อนหน้านี้แล้ว ย้ำ!กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

25 ธันวาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึงกรณีมีการระบาดของเชื้อโนโรไวรัสเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่าสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มค 2567 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยจำนวน 742,697 ราย โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย โดยเชื้อก่อโรคที่พบเป็นส่วนใหญ่ คือ แบคทีเรียซาโมเนลลา จำนวน 24 เหตุการณ์ (ร้อยละ 28) รองลงมาคือเชื้อแบคทีเรียอีโคไล จำนวน 20 เหตุการณ์ (ร้อยละ 24) แบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส จำนวน 17 เหตุการณ์ (ร้อยละ 20) โนโรไวรัส จำนวน 17 เหตุการณ์ (ร้อยละ 20) และแบคทีเรียแคมไพโลแบคเตอร์ จำนวน 6 เหตุการณ์ (ร้อยละ 7) โดยจากผลการดำเนินงานเฝ้าระวังเฉพาะเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน พบว่าเชื้อไวรัสที่พบมากที่สุด คือ โรต้าไวรัส (ร้อยละ 45) รองลงมาคือ โนโรไวรัส จี 2 (ร้อยละ 33) และซาโปไวรัส (ร้อยละ 7) ตามลำดับ


สำหรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโนโรไวรัสในประเทศไทยนั้น พบว่าตั้งแต่ปี 2561-2567 มีผู้ป่วยอุจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ จากเชื้อโนโรไวรัส จี 1 และจี 2 ในประเทศไทย จำนวน 729 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 0-4 ปี (ร้อยละ 22) รองลงมาคือ 15-24 ปี (ร้อยละ 21) และ 5-9 ปี (ร้อยละ 21) ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งการติดต่อของเชื้อโนโรไวรัส เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส ผ่านการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงการสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ระยะฟักตัวประมาณ 12-48 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ก่อนเริ่มมีอาการ และต่อเนื่องไปได้อีกหลายสัปดาห์หลังการติดเชื้อ อาการของผู้ป่วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดมวนท้อง ร่วมกับอาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวอ่อนเพลีย อาการจะรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย โดยทั่วไปมักมีอาการประมาณ 24-72 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยทุเลาลง


โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่มีผลต่อผู้ใหญ่และเด็กโตมากกว่า แพร่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่แออัด และมักพบในฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นทำให้เชื้อสามารถเจริญได้ดี ไวรัสชนิดนี้มีความแตกต่างจากโรต้าไวรัสซึ่งมักส่งผลกระทบส่วนใหญ่ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มักมีอาการรุนแรงกว่า และปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับการป้องกันโรคแล้ว ส่วนโนโรไวรัสยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรการทางสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยการดูแลสุขอนามัย ดังนี้


1. กินร้อน คือ รับประทานอาหารปรุงสุกอยู่เสมอ ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเป็นประจำ ,หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน โดยเฉพาะในน้ำ
2. ช้อนกลาง ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น


3. ล้างมือ คือ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนทำอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้ และเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน และเด็กที่อาการป่วยควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็ก รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีอาการป่วยควรงดประกอบอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ


รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ สำหรับเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการ ในรายที่อาการไม่รุนแรง แนะนำให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนน้ำที่เสียไป จากการอาเจียนและถ่ายเหลว รับประทานอาหารอ่อน ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง เป็นต้น สำหรับในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลวรุนแรง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้ช็อก ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้สารน้ำทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด


เรียบเรียง:นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่