แพทย์โรคติดเชื้อ มช.ชี้ ไวรัสเอนเทอโร พบการระบาดทุกปี เน้นย้ำพ่อ-แม่ ควรดูแลสุขอนามัยบุตรหลาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

29 มกราคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

พญ.ภัทรานันท์ กุศลธรรมรัตน์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร หรือ Enterovirus ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ แต่เป็นเชื้อที่มีอยู่แล้ว ประกอบไปด้วยไวรัสหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus A71การระบาดมักเกิดในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กโดยเฉพาะตามสถานรับเลี้ยงเด็กโดยการติดต่อ เกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ ที่ปนเปื้อนในนํ้ามูก นํ้าลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือการไอจามรดกัน


จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในแต่ละปีมีรายงานผู้ป่วย เฉลี่ยปีละ 61,100 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มักพบการระบาด ในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปาก น้ำลายไหล มีผื่นลักษณะตุ่มน้ำใส บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในปาก และรอบทวารหนัก โดยอาการมักจะทุเลาและหายเองได้ภายใน 7–10 วัน มีเพียงส่วนน้อยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเชื้อ enterovirus A71 ที่อาจทำให้เกิดโรครุนแรง จากการทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ โดยเด็กจะมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง เดินเซ อาเจียน หายใจหอบเหนื่อย ชัก และเสียชีวิตได้ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


พญ.ภัทรานันท์ กุศลธรรมรัตน์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมีวัคซีนเสริมที่สามารถป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จากเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส 71 (อีวี 71) เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี โดยจะฉีด 2 เข็ม ห่างกันเป็นเวลา 1 เดือน โดยมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันโรคจากเชื้อ Enterovirus 71 (EV 71) ได้ 97% และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อติดเชื้อ Enterovirus 71 (EV 71) ได้ 100% แต่ทั้งนี้วัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์อื่นๆได้ ราคาต่อเข็มแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ดังนั้นวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ที่สามารถทำได้และมีประสิทธิภาพเช่นกันคือ ลดการสัมผัสแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน โดย การหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดและปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างสมํ่าเสมอ
เรียบเรียง:นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์

แกลลอรี่