เตรียมตัวอย่างไรก่อนวิ่ง ให้ปลอดภัย ได้สุขภาพ

13 มกราคม 2568

คณะแพทยศาสตร์

การออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว อากาศเย็น ดังนั้นงานวิ่งใหญ่ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มักจะจัดในช่วงฤดูหนาวและเลือกจัดในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็นสบายและมีภูมิประเทศที่เหมาะแก่การจัดกิจกรรม โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย
บทความนี้จะเป็นความเห็นส่วนตัวเป็นส่วนมากจากประสบการณ์และการอ่านวิจัยต่างๆ มา
อาการบาดเจ็บที่มักพบบ่อยในนักวิ่ง แบ่งออกเป็น นักวิ่งมือใหม่ และนักวิ่งมืออาชีพ หรือนักวิ่งประจำระยะทางในการวิ่ง วิ่งสั้นระยะทางน้อยกว่า 15 กิโลเมตร และวิ่งยาว ระยะทางมากกว่า 15 กิโลเมตร โดยจำแนกได้ดังนี้

นักวิ่งมือใหม่
•วิ่งสั้น : ระยะทางน้อยกว่า 15 กม. การบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยที่มักจะเกิดขึ้น ได้แก่ ข้อเท้าพลิกแพลง บาดเจ็บกล้ามเนื้อ ITB syndrome (Iliotibial band syndrome), รองเท้ากัด เกิดการเสียดสีในส่วนต่าง ๆ ฯลฯ
•วิ่งยาว : ระยะทางมากกว่า 15 กม. การบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยที่มักจะเกิดขึ้น ได้แก่ หัวใจหยุดเต้น โซเดียมต่ำ เป็นลม Hyperthermia ฯลฯ

นักวิ่งประจำ ระยะทางมากกว่า 15 กม. การบาดเจ็บหรือความเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ หัวใจหยุดเต้น Hyperthermia
ภาวะหัวใจหยุดเต้น มักเกิดขึ้นได้กับนักวิ่งที่วิ่งระยะยาว มากกว่าวิ่งระยะสั้น นักกีฬาที่ออกกำลังกายหนัก หักโหมหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หัวใจโต เส้นเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากเมื่อเราออกกำลังกายมากๆ จะส่งผลให้อะดรีนาลีน (Adrenaline) ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น หากพบว่ามีนักวิ่งหมดสติ เรียกไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการปั้มหัวใจทันที เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต

เตรียมตัวอย่างไรก่อน-หลัง วิ่ง
•ก่อนวิ่ง
- ฝึกความแข็งแรงของร่างกาย ด้วยการซ้อมเป็นประจำก่อนลงแข่ง
- วอร์มอัพ (Warm up) อบอุ่นร่างกายก่อนออกวิ่ง
- เลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ก่อนวิ่ง 1-2 ชั่วโมง
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูปจนเกินไป
- เลือกสวมรองเท้าและถุงเท้าสำหรับการวิ่ง และควรมีขนาดที่พอดีตามคำแนะนำของนักวิ่ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม
•หลังวิ่ง
- หลังเข้าเส้นชัย ควรลดระดับจากวิ่งมาเป็นเดิน เพื่อให้ร่างกายปรับตัว
- Cool Down ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
- ดื่มน้ำเปล่าหรือเกลือแร่ ทดแทนการเสียเหงื่อ
- จดจำเบอร์โทรฉุกเฉิน 1669 หรือหมายเลขโทรศัพท์หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วที่ติดบนบิบ


ขอบคุณข้อมูลจาก : โดย รศ.ดร.นพ.บวร วิทยชำนาญกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่