โพรไบโอติกส์คืออะไร
โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้ใหญ่ และในระบบอื่นๆ ของร่างกาย จุลินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมดุลของระบบย่อยอาหาร ลดแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และช่วยป้องกันโรคบางชนิด
ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์
โพรไบโอติกส์มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ ดังนี้
• ป้องกันและบรรเทาอาการท้องเสีย ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
• ลดอาการท้องผูกและท้องอืด
• ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยอาหารและส่งเสริมระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ
• เพิ่มภูมิคุ้มกัน
• ช่วยลดความเสี่ยงของอาการภูมิแพ้ เช่น ผื่นคันและหอบหืด
• ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โพรไบโอติกส์ช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพแบคทีเรียในลำไส้เพื่อลดการผลิตสารพิษที่อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
• กระตุ้นระบบย่อยอาหาร
• ช่วยกระตุ้นการสร้างเอนไซม์และเร่งการเผาผลาญในร่างกาย
แหล่งอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง สามารถหาโพรไบโอติกส์ได้ในอาหารทั่วไป ได้แก่
•นมเปรี้ยว, โยเกิร์ต, ผลิตภัณฑ์ (fermented milk)
•อาหารหมักดอง เช่น กิมจิ, แตงกวาดอง, มิโซะ
•คอมบูชา ชาหมักที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ
•ถั่วเน่าและเทมเป้ อาหารหมักพื้นเมืองที่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
•เต้าเจี้ยว ผลิตภัณฑ์หมักจากถั่วเหลือง
โพรไบโอติกส์เหมาะกับใคร
โพรไบโอติกส์เหมาะสำหรับทุกคนที่รักสุขภาพทั่วไป แต่จะต้องจำกัดในกลุ่มของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น กลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรระวังการบริโภคอาหารหมักดอง เนื่องจากอาจจะมีเกลือหรือโซเดียมแฝง จึงต้องมีการจำกัดปริมาณการรับประทาน หรืออ่านฉลากโภชนาการข้างกล่อง หรือ ขวด ผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และ ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูงในปริมาณมากอาจทำให้ได้รับน้ำตาลแฝง จึงแนะนำให้จำกัดการบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน
คำแนะนำในการเลือกผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์
1. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก อย.
2. ผลิตภัณฑ์ควรมีมาตรฐานการผลิต เช่น GMP และ HACCP
3. ตรวจสอบฉลากโภชนาการเพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำตาลและโซเดียม
4. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา) ต่อวัน
ดังนั้นโพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถหาได้จากอาหารทั่วไปที่มีจำหน่ายในท้องตลาด การบริโภคโพรไบโอติกส์เป็นประจำจะช่วยเสริมระบบย่อยอาหาร เพิ่มภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมสุขภาพในทุกช่วงวัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คุณนฤมิตร บ้านคุ้ม หัวหน้าหน่วยโภชนศึกษา งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช. #หมอสวนดอก
#65ปี #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#สื่อสารองค์กรMedCMU