เช็คก่อนสายส่องกล้องลำไส้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

6 ธันวาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

การส่องกล้องลำไส้ (Colonoscopy) เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่ และลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจนี้ช่วยให้พบความผิดปกติในลำไส้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เช่น ติ่งเนื้อหรือรอยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง


ส่องกล้องลำไส้คืออะไร และทำไมถึงสำคัญ?
การส่องกล้องลำไส้คือการใช้กล้องขนาดเล็กที่ติดอยู่ปลายท่อยืดหยุ่น เพื่อตรวจสอบภายในลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ขั้นตอนนี้สำคัญเพราะสามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อตรวจพบติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติ สามารถตัดออกได้ทันที ลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น


ขั้นตอนของการส่องกล้องลำไส้
• การเตรียมตัวก่อนตรวจ
ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาล้างลำไส้ในคืนก่อนการตรวจ เพื่อให้ลำไส้สะอาดสำหรับการมองเห็นรอยโรค แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ เช่น โรคประจำตัว (โรคหัวใจ, โรคปอด) หรือยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ เช่น ยาละลายลิ่มเลือด
• ระหว่างตรวจ
แพทย์จะใส่กล้องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อสำรวจลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยอาจได้รับยานอนหลับเบาๆ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย
• หลังตรวจ
หากพบความผิดปกติ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy) หรือกำจัดติ่งเนื้อทันที ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังพักฟื้น โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักในวันนั้น
ใครบ้างที่ควรส่องกล้องลำไส้
ผู้ที่มีอาการผิดปกติ ได้แก่
• ถ่ายเป็นเลือด
• ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
• น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• คลำพบก้อนในช่องท้อง


กลุ่มที่ควรคัดกรอง
ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป (หรือ 40 ปีในผู้ที่มีประวัติเสี่ยง)
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้หรือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่


ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
• อาหาร: การบริโภคเนื้อแดง ปิ้งย่าง หรืออาหารแปรรูปในปริมาณมาก
• ภาวะโรคอ้วน: น้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยงของโรค
• กรรมพันธุ์: ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่


คำแนะนำเพื่อสุขภาพลำไส้ที่ดี
• รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
• ตรวจคัดกรองตามคำแนะนำของแพทย์


การส่องกล้องลำไส้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะการส่องกล้องลำไส้เป็นการตรวจที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันและวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากคุณมีอาการผิดปกติหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่ารอช้า ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการตรวจที่เหมาะสม สุขภาพลำไส้ของคุณอยู่ในมือคุณเอง


ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.ธเนศ ชิตาพนารักษ์
อาจารย์หน่วยวิชาระบบทางเดินอาหาร
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่