เปิดแล้ว Innovative Food Fabrication Pilot Plant โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร บริการใหม่เพื่อการผลิตสินค้านวัตกรรมอาหารด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ

25 มีนาคม 2563

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

       อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ อัพเดทความคืบหน้า Innovative Food Fabrication Pilot Plant โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร พร้อมเปิดให้บริการแล้ว โดยให้บริการและคำปรึกษาสำหรับการผลิตสินค้าแปรรูป เช่าใช้เครื่องมือเครื่องจักรสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงบริการส่งต่อตรวจวัดคุณภาพสารอาหารและการวิเคราะห์ต่าง ๆ จากห้องปฏิบัติการภายใต้เครือข่ายอุทยานฯ เพื่อช่วยต่อยอดผลงานวิจัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เกิดขึ้นจริงผ่านการให้บริการอย่างครบวงจรในปริมาณที่เหมาะสมกับความสามารถของภาคเอกชน

       สำหรับโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรให้บริการใน 4 สายการผลิต ได้แก่ Acid Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรด เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มจากผลไม้ ซอสและแยม, Low Acid Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรดต่ำ ที่มีค่า pH มากกว่า 4.6 และมีค่า Water Activity มากกว่า 0.85 ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทนม อาหารและเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท, Dehydration Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทการทำแห้ง หรือการดึงน้ำออกด้วยการอบแห้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ชงละลาย ผักผลไม้อบแห้งด้วยเทคนิคต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ และ Advanced Food Process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตสารสกัด สารให้กลิ่นรส น้ำมัน และการแปรรูปอาหารโดยไม่ใช้ความร้อน เป็นต้น ซึ่งได้นำเครื่องสกัดสารแบบ Super Critical Fluid Extraction (SEE) โดยใช้แก๊สคาร์บอนไดออกไซต์เป็นตัวทำละลาย มาให้บริการในสายการผลิตนี้ด้วย

       ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว ในฐานะแม่ข่ายดำเนินการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือว่า โรงงานดังกล่าวจะช่วยภาคเอกชนในการหาสภาวะที่เหมาะสม สำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมลดความเสี่ยงในการลงทุนต่อกระบวนการผลิต ทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรภาคเอกชน โดยสามารถยกระดับต้นแบบงานวิจัยของภาคเอกชนรายย่อยสู่ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังเชื่อมโยงนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมธุรกิจ SMEs และ Startup ในระดับภูมิภาคให้เติบโตตอบโจทย์ครอบคลุมทุกธุรกิจอาหารในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอุทยานฯ ยังมีแผนในการจัดหาเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับความหลากหลายของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแนวใหม่ในภาคเหนือควบคู่กับการส่งเสริม Startup เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารภาคเหนือกลายเป็นแหล่งรวมของ Food Tech Startup ในอนาคต

       ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 5 ปีหลังจากเปิดให้บริการ คาดการณ์ว่าโรงงานแห่งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการเข้ารับบริการมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยสร้างโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยแก่ผู้ประกอบการได้จำนวนกว่า 700 ราย และเกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมากถึง 1,600 อัตรา สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. สอบถามคุณวทัญญู แสนโภชน์ ฝ่ายบริการห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบเพื่ออุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 092-342-4488 อีเมล watunyou@step.cmu.ac.th

สนใจขอรับบริการ คลิกลงทะเบียน

แกลลอรี่