โรคไตเรื้อรัง เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทย โรคนี้มีลักษณะการดำเนินโรคเป็น 5 ระยะ โดยระยะที่ 5 คือระยะรุนแรงที่สุด ผู้ป่วยต้องพึ่งการฟอกเลือดหรือการล้างไตทางหน้าท้อง ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-4 ถึง 17-18 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และในระยะที่ต้องล้างไตมีจำนวนประมาณ 150,000-170,000 คนทั่วประเทศ
โรคไตเกิดจากอะไร
สาเหตุหลักของโรคไตในประเทศไทย ได้แก่ โรคเบาหวาน (อันดับ 1) ความดันโลหิตสูง (อันดับ 2)
สองโรคนี้รวมกันทำให้เกิดโรคไตถึง 70-80% ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น โรคไตอักเสบ
นิ่วในไต โรคไตเป็นถุงน้ำ การใช้ยาแก้ปวด หรือสมุนไพรที่ไม่เหมาะสม โรคไตยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง
การแบ่งประเภทของโรคไต
• โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นการเสื่อมของไตที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้ การรักษาเน้นลดความเสื่อมให้ช้าลง
• โรคไตบาดเจ็บเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) เกิดขึ้นฉับพลันและสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพไต
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ควรตรวจสุขภาพไตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ผู้ที่อายุเกิน 30 ปี แม้ไม่มีโรคประจำตัว ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะ
ผู้ที่อายุเกิน 45 ปี ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยรวมการตรวจปัสสาวะและการทำงานของไต
โภชนาการสำหรับป้องกันและดูแลโรคไต
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงและควบคุม ได้แก่
• โซเดียม ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และมีอาการบวม ต้องลดโซเดียม
อาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส อาหารแปรรูป
• โพแทสเซียม ผู้ป่วยโรคไตที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ควรจำกัดอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้ ได้แก่ กล้วย ส้ม มะละกอ ทุเรียน แคนตาลูป ผัก ได้แก่ บล็อกโคลี่ มะเขือเทศ สะตอ
• ฟอสฟอรัส ผู้ป่วยโรคไตที่มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรจำกัดอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำอัดลม เครื่องดื่มสีเข้ม
• โปรตีน ลดปริมาณโปรตีน แต่เน้นโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ไข่ขาว เนื้อปลา สามารถทานโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว ได้ แต่ควรมีโปรตีนจากสัตว์มาเสริม เช่น นม ไข่ขาว
อาหารที่แนะนำ
ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกอาหารปรุงสดแทนอาหารแปรรูป
ข้อควรรู้เกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ
• “กินเค็มทำให้เป็นโรคไต” จริงๆ แล้วการกินเค็มส่งผลต่อความดันโลหิต ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไต แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง
• “มีอาหารบำรุงไต” ไม่มีอาหารที่ช่วยบำรุงไตโดยตรง แต่มีอาหารที่ส่งผลให้ไตเสื่อม เช่น ยาใช้แก้ปวดบางชนิด (พาราเซตามอลสามารถใช้ได้) และสมุนไพรที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจน
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคไต
• รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
• ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
• เลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดโซเดียมเพื่อลดโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง
• หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดบางชนิด และสมุนไพรที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.ดร.นพ.ขจรศักดิ์ นพคุณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่