ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ทางเลือกในการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง

1 พฤศจิกายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

ปัญหาโรคอ้วนเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน การผ่าตัดกระเพาะอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยผู้ที่มีน้ำหนักเกินลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากและมักมีปัญหาสุขภาพร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น


ใครบ้างที่เหมาะกับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะสำหรับผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 37.5 ขึ้นไป หรือมี BMI 32.5 ขึ้นไปร่วมกับโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับโรคอ้วน สำหรับใครที่อยากทราบค่า BMI ของตัวเอง สามารถคำนวณได้ง่ายๆ ดังนี้ ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ? ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิง น้ำหนัก 95 กิโลกรัม ส่วนสูง 155 เซนติเมตร ดัชนีมวลกาย (BMI) = 95 ? [1.55 x 1.55] คิดเป็นดัชนีมวลกาย (BMI) = 39.54
ซึ่งจัดว่าอ้วน (ค่า BMI เกิน 30 ถือว่าอ้วน)


ทำไมโรคอ้วนต้องได้รับการรักษา
โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไขมันพอกตับ ตับแข็ง เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองแตก เบาหวาน และปัญหาข้อเข่า จึงควรได้รับการดูแลอย่างจริงจังเพื่อสุขภาพที่ดีและยืนยาว


การลดน้ำหนักแบบไม่ผ่าตัด
•ลดปริมาณอาหาร : เริ่มจากลดน้ำตาลและอาหารแคลอรีสูง และอาจทำการควบคุมแคลอรีให้ลดลง 500 แคลอรีต่อวัน
•ออกกำลังกาย : ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 45-90 นาทีต่อวัน และสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น เดิน วิ่งเบา ๆ หรือว่ายน้ำ


อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากธรรมชาติของร่างกายจะปรับลดอัตราการเผาผลาญลง ส่งผลให้เกิดภาวะโยโย่เอฟเฟกต์ (Yoyo Effect) ได้
ยารักษาโรคอ้วน
ยาสามารถใช้ร่วมในการลดน้ำหนักได้ แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาลดน้ำหนักบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่อันตราย


การผ่าตัดกระเพาะอาหารคืออะไร
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินอาหารเพื่อช่วยให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ดูดซึมได้น้อยลง และลดฮอร์โมนความหิวในร่างกาย วิธีนี้จึงเป็นทางออกที่ช่วยให้ลดน้ำหนักได้เร็วและยั่งยืน โดยลดโอกาสการเกิดภาวะโยโย่เอฟเฟกต์ (Yoyo Effect)


การดูแลหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัด แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการและให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินเสริม เช่น แคลเซียม และโปรตีน เพื่อป้องกันผมร่วง ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดหลังการผ่าตัด ทั้งนี้แพทย์จะติดตามการฟื้นฟูของผู้ป่วยไปอีก 1-2 ปี เพื่อตรวจผลเลือดและตรวจดูว่าร่างกายขาดวิตามินใดหรือไม่
ดังนั้นการผ่าตัดกระเพาะอาหารจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและช่วยในการลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ด้วยวิธีการทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดกระเพาะอาหารยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักในระยะยาว โดยความเสี่ยงหลักๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
– ภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้น เช่น เลือดออกในช่องท้อง การติดเชื้อ และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งพบได้ในบางราย
– การขาดสารอาหาร เนื่องจากร่างกายอาจดูดซึมสารอาหารได้ลดลง ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานวิตามินและแร่ธาตุเสริม เช่น แคลเซียม วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และโปรตีน
– อาการผมร่วงและความอ่อนเพลีย เป็นผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในระยะเริ่มต้นหลังการผ่าตัด โดยเกิดจากการลดการดูดซึมสารอาหาร
– อาการกรดไหลย้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้นเนื่องจากกระเพาะอาหารเล็กลง ทำให้กรดมีโอกาสไหลย้อนกลับไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
– อาการท้องเสียหรือท้องผูก การเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหารอาจทำให้ระบบขับถ่ายเปลี่ยนไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสียหรือลำไส้แปรปรวน
– ภาวะโยโย่ หากไม่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ น้ำหนักมีโอกาสกลับขึ้นมาใหม่ในระยะยาว
การผ่าตัดกระเพาะอาหารจึงต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและควรมีการติดตามการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดหลังการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงและดูแลผลข้างเคียงอย่างเหมาะสม


ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.พญ.กนกกาญจน์ เทพมาลัย อาจารย์หน่วยกุมารศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์

แกลลอรี่