วันเอดส์โลก (World AIDS Day)

3 ธันวาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น วันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกตระหนักถึงโรคเอดส์และการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยในปี 2024 แนวคิดของการรณรงค์คือ “Let Communities Lead” หรือ “ให้ชุมชนเป็นผู้นำ” โดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนและเยาวชน ในการป้องกันและยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวีให้ได้ภายในปี 2573


HIV และ AIDS ต่างกันอย่างไร
HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือเชื้อไวรัสที่โจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
AIDS (Acquired Immunodeficiency Syndrome) คือระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่งภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายอย่างหนักจนเกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสหรือมะเร็งบางชนิด


สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ HIV ในปัจจุบัน
ข้อมูลปี 2565 ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อ HIV ทั่วโลกประมาณ 40 ล้านคน โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 560,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่ 9,200 ราย และเสียชีวิตจากเอดส์ 11,000 ราย ทั้งนี้ การติดเชื้อในประเทศไทยเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย


การแพร่ของเชื้อ HIV
HIV แพร่กระจายผ่านของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด อสุจิ น้ำนมแม่ และสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ การสัมผัสในชีวิตประจำวัน เช่น การจับมือ กอด หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ทำให้ติดเชื้อ


อาการของผู้ติดเชื้อ HIV
•ระยะแรก (2-4 สัปดาห์) อาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ เจ็บคอ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต
•ระยะไม่มีอาการ อาจนาน 5-10 ปี ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการใดๆ
•ระยะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น การติดเชื้อราในสมอง หรือวัณโรค


ใครควรตรวจหาเชื้อ HIV
• ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
• ผู้ที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
• ผู้ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
• หญิงตั้งครรภ์และคู่สมรส
• ผู้ที่วางแผนมีบุตรหรือกำลังรับยา PrEP/PEP


การป้องกันการติดเชื้อ HIV
• ใช้ถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
• ใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ (PrEP) หรือหลังสัมผัสเชื้อ (PEP)
• หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
• ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย


การรักษาและคุณภาพชีวิต
แม้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ยาต้านไวรัส (ART) ช่วยลดปริมาณไวรัสในเลือดจนตรวจไม่พบ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีสุขภาพดี และลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
“เราสามารถยุติการแพร่ระบาดของ HIV ได้ด้วยความรู้ การยอมรับ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :อ.พญ.กวิสรา กระแสเวส อายุรแพทย์ หน่วยวิชาโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน


ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่