เสวนา “สถานการณ์PM2.5 นโยบายที่ประเทศไทยต้องทำ” (Round Table Dialog on PM2.5 : Thailand Guiding Policy)
25 มีนาคม 2564
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เครือข่ายสภาลมหายใจ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาภาคเหนือ จัดเสวนา “สถานการณ์ PM2.5 นโยบายที่ประเทศไทยต้องทำ” (Round Table Dialog on PM2.5 : Thailand Guiding Policy) โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ และได้รับเกียรติจาก พันตำรวจตรียงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงานร่วมเสวนาฯ ณ ห้องฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2564
ทุกๆปีตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงต้นฤดูฝนในห้วงระยะเวลา 15 ปีผ่านมา พื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดในภาคเหนือตกอยู่ภายใต้มลพิษทางอากาศเนื่องจากฝุ่นพิษขนาดเล็ก pm 10, pm 2.5 และก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ มากมายทั้งในทางด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง และกฎหมาย และในปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่นพิษขนาดเล็กก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือเท่านั้น แทบในทุกภูมิภาครวมถึงกรุงเทพมหานครก็ประสบภัยพิบัติของคุณภาพอากาศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาธารณภัยที่ร้ายแรง และควรจะต้องมีนโยบายในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศมาตั้งนานแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี
มหาวิทยาลัยเชียงในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาและเป็นแหล่งของการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ และตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมลพิษทางอากาศ โดยมีศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และคณะ/ภาควิชาต่างๆ รวมตัวกันได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปรากฎการณ์มลพิษทางอากาศ พร้อมๆไปกับการพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีการตรวจวัดสภาพอากาศที่เกิดจากการทำงานร่วมกันในเชิงเครือข่ายทางวิชาการระหว่าง สถาบันการศึกษาและสถาบันทางวิชาการทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้ และแนวทางการแก้ปัญหาในเชิงระบบ ทำให้ทราบถึงต้นตอ สาเหตุ โครงสร้างของปัญหา และพฤติกรรมของฝุ่นควันพิษ
การเสวนาวิชาการเพื่อติดตามและประเมินระบบการแก้ปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยคณะนิติศาสตร์และเครือข่ายองค์กรต่างๆ ครั้งนี้ ค้นพบว่า
1. ในปีนี้ จากการตรวจสอบจุดความร้อนโดยระบบดาวเทียมภาพรวมโดยส่วนใหญ่พบว่า พื้นที่ภาคเหนือภายในประเทศมีจุดความร้อนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาและพื้นที่เดียวกัน แต่สำหรับพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มีจุดความร้อนหนาแน่น เข้มข้น รวมถึงในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านในทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้เกิดฝุ่นพิษข้ามแดนมายังประเทศไทย
2.แม้จะมีการเตรียมการรับมือสถานการณ์สาธารณภัยจากฝุ่นพิษขนาดเล็กของหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการเตรียมการที่เป็นการตั้งรับ ยังไม่มีนโยบายเชิงรุกอย่างแท้จริงที่จะต้องดำเนินการกันตลอดทั้งปี แทนที่จะต้องรอแก้ปัญหาที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงต้นปี จึงต้องมีนโยบายเพื่อปรับแผนการจัดการฝุ่นควันขนาดเล็กเสียใหม่
3.แผนการเพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นควันพิษขนาดเล็กที่จัดทำขึ้นในแต่ละจังหวัดของพื้นที่ภาคเหนือ ยังไม่มี การบูรณาการแผน บูรณาการทรัพยากรด้านงบประมาณ กำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ จึงทำให้การดำเนินต่างๆไม่สามารถที่จะบรรลุผลได้ตามแผน
4.แม้ระบบการจัดการฝุ่นควันพิษภายในประเทศจะดีขึ้นโดยภาพรวม แต่ยังขาดนโยบายการจัดการฝุ่นควันพิษข้ามแดนซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาในเวทีประชาคมอาเซียน
5.นโยบายในระยะยาวที่ประเทศไทยต้องดำเนินการคือการเปลี่ยนโครงสร้างของระบบการผลิตพืชผลทางการเกษตรและโครงสร้างของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจBCG
6.มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อรับรอง “สิทธิในอากาศสะอาด” ให้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์สาธารณภัยจากฝุ่นพิษขนาดเล็ก