วันไตโลก (World Kidney Day) ประจำปี 2566

9 มีนาคม 2566

คณะแพทยศาสตร์

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น วันไตโลก (World Kidney Day) ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 โดยมีคำขวัญรณรงค์คือ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” (Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต และ ได้มีความรู้ ความเข้าใจถึงแนวทางในการป้องกัน และชะลอความเสื่อมของไต

ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นปัญหาสาธารณสุขและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก การหาแนวทางป้องกันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังไม่ให้กลายเป็นไตวายเรื้อรังเร็วเกินควร หรือชะลอความเสื่อมของไต จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ไต อวัยวะรูปเม็ดถั่วขนาดเท่ากำปั้น คนปกติมีไต 2 ข้าง ไตเปรียบเสมือนเครื่องกรองชนิดพิเศษที่มีความมหัศจรรย์และมีความจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต ทำหน้าที่สำคัญในการขับของเสียออกจากร่างกาย รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ทั้งยังผลิตฮอร์โมนหลายชนิด โดยจะทำงานควบคู่กับระบบอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากนั้นไตยังมีหน้าที่ในการสร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิต และสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
ดังนั้น เมื่อไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย เมื่อความบกพร่องเกิดขึ้นกับไต จนไตไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในระยะแรก อาจพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น ตรวจพบเพียงโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะจากการตรวจสุขภาพประจำปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจนไตเสื่อมหน้าที่มากขึ้นอาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้
โรคไตเรื้อรังระยะต้นมักจะไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่ชัดเจน จึงทำให้ไม่ได้รับความสนใจหรือตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ตระหนักถึงอันตราย ไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปล่อยให้มีการเสื่อมของไตดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสู่ระยะที่เป็นมากขึ้น ซึ่งในโรคไตเรื้อรังนี้ไตที่เสื่อมไปแล้วจะไม่กลับมาฟื้นเป็นปกติเหมือนเดิมอีก

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง
- ที่พบมากที่สุดคือโรคเบาหวาน พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีสาเหตุมาจากเบาหวาน 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งหมด ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานดูแลตัวเองได้ไม่ดี ควบคุมโรคไม่ได้ท้ายที่สุดการดำเนินของโรคจะสู่ระยะสุดท้ายและต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตอักเสบ หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น กลุ่มโรค SLE
- ผู้ที่ได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อไต เช่น กลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ยาสมุนไพรบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- เป็นนิ่วในไตหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคถุงน้ำในไต
- โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง
- มีมวลไตน้อยหรือลดลง หรือมีไตข้างเดียว
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป
- มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือ โรคอ้วน
- สูบบุหรี่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก: อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร์
อาจารย์พิเศษหน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียงโดย : นางสาวธัญญลักษณ์ สดสวย
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#วันไตโลก #WorldKidneyDay
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU


*****************

แกลลอรี่