โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร ช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร

16 กรกฎาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกในภาคเหนือ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน และผู้ปกครองนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำผลผลิตทางการเกษตรที่ล้นตลาด ใส่ไอเดียด้วยนวัตกรรม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างรายได้ จากสถานการณ์ COVID-19

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เปิดเผยถึงความเป็นมาของการนำนวัตกรรมโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรแห่งแรกในภาคเหนือ มาเพิ่มศักยภาพต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ หรือการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมโรงงานต้นแบบฯ และพัฒนาศักยภาพสินค้า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า จากการศึกษาความต้องการด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพยากร งบประมาณในการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร หรือความรู้ความสามารถในการวิจัยพัฒนา ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตออกมานั้นไม่ได้มาตรฐานตามที่ท้องตลาดต้องการ ซึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการไม่สามารถลงทุนซื้อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตที่มีมูลค่าสูงได้เอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาไม่มีคุณภาพและมาตรฐานรองรับ หรือผู้ประกอบการบางรายมีความสามารถในการลงทุนเครื่องจักรได้ แต่ปริมาณการผลิตที่ได้ต่ำ ส่งผลให้เครื่องจักรถูกใช้งานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ และต้องแบกรับต้นทุนการบำรุงรักษาที่สูงเกินไป จึงสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้นำแนวคิดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy : BCG Model) พร้อมสนับสนุนงบประมาณผ่านรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรกว่า 160 ล้านบาท ผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) เพื่อก่อสร้าง และดำเนินการบนพื้นที่การศึกษาตำบลแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่และเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ

ซึ่งโรงงานต้นแบบฯ ได้เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รูปแบบการดำเนินงานโรงงานฯ ได้รับการปรับให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์กับสังคมสูงสุด โดยเริ่มผลิต น้ำเกลือแร่รสลิ้นจี่วิตามินสูงและมะเขือเทศราชินีอบแห้งเพิ่มพลังงาน เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนำร่องเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และในขณะเดียวกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การส่งออกผลิตผลทางเกษตรหยุดชะงัก เกิดภาวะล้นตลาด ไม่ว่าจะเป็น ลิ้นจี่ ลำไยมะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีปลูกเยอะในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงให้มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) ดำเนินโครงการโรงงานต้นแบบช่วยการผลิต (Pilot Plant for Production) โดยรับผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดจากชุมชน/เกษตรกร นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งสร้างการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับนักศึกษา บัณฑิตว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบันโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร มีความพร้อมในการให้บริการ จำนวน 4 สายการผลิต ได้แก่ 1. Acid Food Process 2. Low Acid Food Process 3. Dehydration Food Process และ 4. Advanced Food Process ตามที่เกริ่นไปเบื้องต้นแล้วว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 โรงงานต้นแบบฯ ได้ผลิตน้ำเกลือแร่รสลิ้นจี่วิตามินสูง โดยใช้สายการผลิต Acid Food Process และมะเขือเทศราชินีอบแห้งเพิ่มพลังงาน ใช้การผลิต Dehydration Food Process เช่นเดียวกันกับมะม่วงอบกรอบที่จะเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ลำดับที่ 3

สำหรับผลผลิตทางเกษตรที่นำมาใช้นั้น มีทั้งได้รับคำแนะนำจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีเครือข่ายของเกษตรกรสวนมะม่วง และได้รับการติดต่อตรงจากเกษตรกร โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรได้ทำการทดลองผลิตไปแล้วประมาณ 500 กิโลกรัม จากแผนการรับมะม่วงเพื่อการแปรรูปทั้งหมด ณ ปัจจุบัน ที่ 1,200 กิโลกรัม โดยได้แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ

- ผลิตภัณฑ์ที่เริ่มทำได้ทันที : มะม่วงอบกรอบ ใช้เครื่องอบลมร้อน (Hot Air Oven) และเครื่องอบแห้งด้วยไมโครเวฟระบบสุญญากาศ (Microwave Vacuum Drier)

- ผลิตภัณฑ์ยืดอายุวัตถุดิบ : มะม่วงแบบเพียวเร่ ใช้การปั่นด้วยเครื่องแยกกากแยกน้ำ (Juice Extractor Screw Type)

- มะม่วงในน้ำเชื่อม ซึ่งใช้การปรับกรดและพาสเจอไรซ์ผ่านหม้อนึ่งแรงดันสูง (Retort)

ผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรม ทั้ง 3 รายการ มีสัดส่วนการผลิตที่มะม่วงอบกรอบ 50% มะม่วงเพียวเร่ 30% และมะม่วงในน้ำเชื่อม 20% ตามลำดับ

โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร ในระยะสั้นได้วางแผนการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารนวัตกรรมแจกจ่ายไปยังผู้บริโภคเพื่อสำรวจความพึงพอใจ และในระยะยาวได้วางแผนให้สตาร์ทอัพภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเติมเต็มการจัดการการจำหน่ายตามห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งหากสามารถสร้างรายได้จะส่งมอบให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

การดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดการยกระดับทางด้านนวัตกรรมอาหารให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างแท้จริง โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาดและศึกษาวิจัยทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการในการเข้ารับบริการ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากโรงงานต้นแบบฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 100 รายอย่างต่อเนื่องทุกปี สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ไม่น้อยกว่า 700 ราย สร้างนวัตกรรมด้านอาหารมากขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการวิจัยพัฒนา และนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท ตลอดจนเกิดการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะสูงและแรงงานการผลิตในกิจการ SMEs และ Startup ไม่น้อยกว่า 1,600 ราย นำไปสู่การยกระดับการค้าการลงทุนของพื้นที่ภาคเหนือได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

แกลลอรี่