มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนรุ่นใหม่ บริการนักศึกษา บุคลากร บอกตำแหน่งรถและที่นั่ง แบบ Realtime ผ่าน CMU Mobile Application มุ่งสู่เมืองต้นแบบอัจฉริยะ พลังงานสะอาด
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ตามพันธกิจเชิงรุก นวัตกรรมค้นสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยใช้แนวคิดในการบริหารจัดการบนข้อมูลจริง (Data Driven Management) โดยมีการดำเนินการเชิงรุกทั้งด้านกายภาพ การปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษา บุคลากร รวมไปถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับปรุงการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเป็นผู้นำในการสร้างการจัดการเทคโนโลยีนวัตกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบและเป็นฐานในการต่อยอดนำไปใช้พัฒนาเมืองและประเทศต่อไป
การพัฒนาด้านระบบขนส่งมวลชน ถือเป็นงานที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการเดินทางที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการปริมาณรถยนต์บนท้องถนน และการจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย อีกทั้งยังช่วยสร้างค่านิยมการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองให้กับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ระบบขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการสำหรับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นการส่งเสริมการใช้รถร่วมกันในการเดินทาง ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งผลให้ลดปัญหาเรื่องการจราจร การจอดรถ และอุบัติเหตุอันเกี่ยวกับรถ
ในปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการด้วยยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดเป็นหลัก ให้บริการครอบคลุมการสัญจรทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 07.00 – 22.00 น. ตลอดทั้ง 7 วันต่อสัปดาห์ การดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการสะสมมากกว่า 5,700,000 คน รวมระยะทางที่ให้บริการมากกว่า 5.8 ล้นกิโลเมตร มีส่วนช่วยลดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,650 ตันคาร์บอนไดออกไซต์
สำหรับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ จำนวน 40 คัน จะมีห้องโดยสารแบบปิดโดยมีหน้าต่างที่เปิด-ปิดได้ และภายในมีพัดลมไว้ให้บริการ สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 16 ที่นั่ง โดยที่ขนาดและมิติของรถเหมาะสมกับการขับขี่ภายในมหาวิทยาลัย ปรับเปลี่ยนระบบแบตเตอรี่เป็นแบบลิเทียมไอออนฟอสเฟต ที่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น การนับจำนวนผู้โดยสารด้วยวิธี Image Processing ร่วมกับ AI ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถติดตามตำแหน่งรถ เส้นทางเดินรถแต่ละสาย และจำนวนผู้โดยสารในรถแต่ละคันได้จากแอปพลิเคชัน CMU Mobile Application แบบ Realtime ด้านหน้ามีป้าย LED บอกสายรถแต่ละคัน มองเห็นได้ง่ายแม้ในเวลากลางคืน มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในรถทุกคัน เช่น ระบบกล้องวงจรปิดที่มองเห็นผู้โดยสารทุกที่นั่ง รวมถึงภาพจากด้านหน้าและด้านหลังของรถ มีจอแสดงภาพให้พนักงานขับรถดูได้ตลอดเวลา มีจอภาพสำหรับการแสดงข้อมูลการให้บริการและสื่อประชาสัมพันธ์ การเก็บข้อมูลต่างๆ ของตัวรถเพื่อนำมาประมวลผลเพื่อนำไปวางแผนการบริหารจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังมีถังดับเพลิงและค้อนทุบกระจกเตรียมไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินด้วย
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ได้มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นใหม่ ณ ศูนย์กลางขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี