อาจารย์แพทย์ มช. ห่วงใยประชาชนในช่วงฤดูฝุ่น PM 2.5 กลับมาเเล้ว หากต้องการออกกำลังกายในที่แจ้งควรเช็คค่าฝุ่น PM2.5 และ AQI ควรวิ่งได้แค่ไหน และระดับไหนที่ควรหยุด
รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค หัวหน้าหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “การวิ่งและออกกำลังกายในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูง อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากการหายใจเร็วและลึกขึ้นในระหว่างออกกำลังกายจะเพิ่มปริมาณฝุ่นที่เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ การสวมหน้ากากขณะวิ่งอาจทำให้การหายใจลำบาก ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ดังนั้น หากคุณต้องการวิ่งในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 สูง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ 1. ตรวจสอบสุขภาพของตนเอง หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง ควรแน่ใจว่าโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี ใช้ยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัย 2. เช็คค่าฝุ่น PM2.5 และ AQI ก่อนวิ่ง ค่า AQI > 50 หรือ PM2.5 > 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรลดระยะเวลาและความเข้มข้นของการวิ่งกลางแจ้ง ,ค่า AQI > 100 หรือ PM2.5 > 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรเลี่ยงการวิ่งกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ,ค่า AQI > 200 หรือ PM2.5 > 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรงดวิ่งหรือออกกำลังกายกลางแจ้งโดยเด็ดขาด และหากเลือกออกกำลังกายในบ้านหรือฟิตเนส ควรใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดค่า PM2.5 ให้ต่ำกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และปิดประตู และหน้าต่างให้มิดชิด 3. เตรียมยาประจำตัวให้พร้อม ในผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง ควรพกยาพ่นขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็วติดตัว สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรพกยาอมหรือยาพ่นใต้ลิ้นขยายหลอดเลือดหัวใจ 4. สูดยาขยายหลอดลมก่อนออกกำลังกาย (ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ) สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง แนะนำให้สูดยาพ่นขยายหลอดลมออกฤทธิ์เร็วประมาณ 10-15 นาทีก่อนการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก 5. ไม่สวมหน้ากากขณะวิ่ง การสวมหน้ากากขณะวิ่งอาจทำให้การหายใจลำบาก หากมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือหน้ามืด ควรหยุดวิ่งทันทีและรีบไปพบแพทย์
การวิ่งในฤดูฝุ่น PM2.5 ต้องคำนึงถึงสุขภาพและคุณภาพอากาศเป็นหลัก หากค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ควรลดระยะเวลา เลี่ยงการวิ่งกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายในร่มแทน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ การออกกำลังกายที่ปลอดภัยและเหมาะสม จะช่วยให้คุณรักษาความฟิตและสุขภาพที่ดีในระยะยาว ดูแลสุขภาพตนเอง และอย่าลืมใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค หัวหน้าหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤติและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่