“ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี การฉีดวัคซีนทุกปีจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค”
อาจารย์แพทย์ ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ห่วงใยประชาชนกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับสูง แนะประชาชนให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี การฉีดวัคซีนทุกปีจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
อ.พญ.สิปาง ปังประเสริฐกุล อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “จากการติดตามรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2567 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สะสมประมาณ 668,027 ราย ซึ่งสูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 99,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 51 ราย โดยผู้ที่เสียชีวิตในกลุ่มนี้มีร้อยละ 56 มีโรคประจำตัว ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) นอกจากนี้ผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่มีประวัติการได้รับวัคซีนเพียงร้อยละ 3.9 สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับสูง โดยระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 17,913 ราย
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว มีการระบาดได้อย่างฉับพลัน เกิดการติดเชื้อได้ในทุกช่วงอายุ พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว หากร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานไม่เพียงพอ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อไวรัส
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ A, B และ C ส่วนใหญ่มักพบการติดเชื้อสายพันธุ์ A และ B การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเกิดได้จากการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อจากน้ำมูกหรือน้ำลาย รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน โดยระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 1-4 วัน และมีอาการประมาณ 5-7 วัน
พบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ส่วนมากอาการทั่วไป ได้แก่ มีไข้สูงฉับพลัน 39-40 องศาเซลเซียส ไอมาก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ธาลัสซีเมีย โรคอ้วน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในหญิงตั้งครรภ์
ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการเริ่มต้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และไอมาก ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป มีเจ็บคอ คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ไม่ค่อยมีไข้สูงหรืออาการปวดเมื่อยรุนแรง และพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อย นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่มักจะรุนแรงและมีอาการอ่อนเพลียยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา
ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะแนะนำให้รักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอลโดยหลีกเลี่ยงยากลุ่มแอสไพริน ให้ยาบรรเทาอาการไอ พักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับยาต้านไวรัส Oseltamivir เพื่อช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรค โดยแนะนำให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของโรค สามารถฉีดได้ในบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหากไม่มีข้อห้าม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง ควรได้รับวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ช่วงเวลาที่ควรเริ่มฉีดวัคซีนจะแนะนำเป็นช่วง 1-2 เดือนก่อนฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาด อย่างไรก็ตามสามารถที่จะฉีดวัคซีนแม้ว่าจะเริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปแล้วก็ตาม เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี การฉีดวัคซีนทุกปีจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หากมีอาการควรหยุดพักรักษาตัวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ”
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่