อาจารย์แพทย์ มช. เตือน! ระวังเด็กจมน้ำในช่วงสงกรานต์” เน้นย้ำ “ เล่นสงกรานต์ให้ปลอดภัย ห่วงใยเด็กเล็ก – เฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ”

22 เมษายน 2568

คณะแพทยศาสตร์

อาจารย์แพทย์ มช. ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินเตือน! ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน (มี.ค.–พ.ค.) เป็นช่วงที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ที่เด็กมักเล่นน้ำตามสระว่ายน้ำ สวนน้ำ น้ำตก หรือแม้แต่คาเฟ่ที่มีแหล่งน้ำโดยไม่ทันระวัง เน้นย้ำช่วง “หน้าร้อน – ปิดเทอม เสี่ยงเด็กจมน้ำสูง! ผู้ปกครองอย่าคลาดสายตา”


อ.พญ.พิมพ์พรรณ อัศวสุรอิน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “จากสถิติปี ช่วงปิดเทอม มี.ค.-พ.ค. 2567 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตถึง 173 ราย กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดคือเด็กอายุ 10–14 ปี รองลงมาคือ 5–9 ปี และ ต่ำกว่า 5 ปี


เด็กเล็กยังขาดความรู้เรื่องอันตราย และมักจมน้ำแบบ “เงียบ” ไม่ดิ้น ไม่ร้อง หากผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กเงียบผิดปกติ ต้องรีบเข้าไปดูทันที เพราะอาจกำลังจมน้ำโดยไม่มีใครรู้ ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบเด็กจมน้ำ ให้ “ตะโกน-โยน-ยื่น” ได้แก่ ตะโกน ขอความช่วยเหลือ โทร 1669 ,โยน อุปกรณ์ลอยน้ำ เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ ,ยื่น สิ่งของยาวๆ เช่น ไม้ หรือเชือกให้เด็กจับ
การช่วยเหลือเบื้องต้น หากเด็กหมดสติ ไม่หายใจ ให้รีบทำ CPR ถ้ายังรู้สึกตัว ให้จับนอนตะแคง ป้องกันการสำลัก คลุมผ้าแห้งกันหนาว และรอทีมแพทย์ฉุกเฉิน


วิธีป้องกันเด็กจมน้ำ จัดแหล่งน้ำในบ้านให้ปลอดภัย เช่น ล้อมรั้วสระน้ำ บ่อปลา สอนเด็ก 3 อย่า “อย่าใกล้ – อย่าเก็บ – อย่าก้ม ” อย่าเข้าใกล้แหล่งน้ำ อย่าเก็บของในน้ำเอง อย่าก้มลงบ่อหรือโอ่งน้ำ, ห้ามเล่นน้ำตอนฝนตก กลางคืน หรือในพื้นที่น้ำเชี่ยว ,เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรเริ่มเรียนว่ายน้ำและทักษะเอาตัวรอด และควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง แม้ว่ายน้ำเป็น ไม่แนะนำให้ใช้ห่วงยาง เพราะเสี่ยงพลิกคว่ำหรือหลุดง่าย เน้นย้ำอุบัติเหตุจมน้ำป้องกันได้ อย่าคิดว่า “แค่ไม่กี่วินาที” ไม่เป็นไร เพราะเพียงพริบตาเดียว อาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้“


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สงกรานต์ #อุบัติเหตุ #จมน้ำ #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #Medcmuในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedcmu

แกลลอรี่