NIA จับมือมูลนิธิข้าวไทยฯ จัดประกวดนวัตกรรมข้าวไทยปี 62 พร้อมยกระดับงานวิจัย มช. ติดตั้งเครื่องกำจัดมอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Bio-Q) ด้วยกระบวนการ UTD RF เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์

13 มิถุนายน 2562

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

      วันที่ 13 มิถุนายน 2562 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พลิกโฉมข้าวไทยด้วยนวัตกรรม เปิดตัวผลสำเร็จการพัฒนาและติดตั้ง “เครื่องกำจัดมอดและไข่มอดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (BIO-Q)” แก่โรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดย NIA สนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จำนวน 1.5 ลบ. บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวตลอดวงจรชีวิตด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ด้วยการใช้กระบวนการ UTD RF และผู้ทำการตลาดเทคโนโลยีดังกล่าว สนับสนุนดำเนินการติดตั้งโครงสร้างและวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีแก่โรงสีข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้คิดค้นเทคโนโลยีและสนับสนุนทางด้านวิชาการ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบคุณภาพการติดตั้งและใช้งานให้ถูกต้องตามหลักการ เพื่อให้เทคโนโลยี UTD RF ที่ทำการติดตั้ง ณ โรงสีข้าวมูลนิธิฯ นั้น มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงยกเว้นค่าตอบแทนสิทธิตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีของเครื่องดังกล่าวแก่ บจก. ยนต์ผลดี ด้วย

       สำหรับเทคโนโลยีการกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency Technology : UTD RF) เป็นผลงานวิจัยของคณะวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้หลักการคลื่นความถี่วิทยุที่เกิดจากไฟฟ้าแรงดันสูง ส่งผ่านไปยังข้าวทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในระดับโมเลกุลจนเกิดพลังงานสะสมเป็น ความร้อนกระจายไปอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้สามารถกำจัดแมลงและไข่แมลงในข้าวสารได้ตลอด ทั้งวงจรชีวิต โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของข้าว ทั้งนี้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุไปสู่การสร้างโรงงานต้นแบบเทคโนโลยี เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรม

      ความสำเร็จนี้ นับเป็นการตอกย้ำถึงการทำงานในแบบ Quadruple Helix ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาคสังคม ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันให้เกิดเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมในอุตสาหกรรมข้าวไทย พร้อมกันนี้ยังได้แถลงข่าวเชิญชวนผู้สนใจร่วมส่งผลงานเข้าร่วม การประกวดนวัตกรรมข้าวไทยประจำปี 2562 (Rice Innovation Awards 2019) เพื่อคัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์เพื่อชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลรวมมูลค่า 320,000 บาท โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 31 ก.ค. 62 โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 

ข้อมูลโดย : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แกลลอรี่