อาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคอหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินอาหารที่อาจส่งผลรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสุขาภิบาล
อ.พญ.อาทิตยา หลวงนรา อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “โรคอหิวาตกโรค (Cholera) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่เป็นภัยคุกคามมนุษยชาติมานานหลายร้อยปี หรืออาจนับพันปี โดยเฉพาะในพื้นที่รอบอ่าวเบงกอล มีบันทึกเกี่ยวกับโรคที่มีลักษณะคล้ายอหิวาตกโรคปรากฏในตำราแพทย์สันสกฤตโบราณที่เขียนขึ้นราว 500–400 ปีก่อนคริสตกาล โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Vibrio cholerae ซึ่งสามารถพบได้ในแหล่งน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย โดยเฉพาะในบริเวณที่มีแพลงก์ตอนสัตว์และหอยอาศัยอยู่ เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเกาะติดและเจริญเติบโตได้ดีในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และมีสายพันธุ์ย่อยเกือบ 200 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่และมีความสำคัญทางระบาดวิทยาคือสายพันธุ์ดั้งเดิม O1 และ O139 ซึ่งถูกค้นพบจากการระบาดครั้งสำคัญในอินเดียและบังคลาเทศในปี พ.ศ.2535
ในปัจจุบันโรคอหิวาตกโรคยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกา การระบาดของโรคมักเกี่ยวข้องกับฤดูฝนหรือน้ำท่วม ซึ่งทำให้แหล่งน้ำสะอาดปนเปื้อนเชื้อโรค การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ Vibrio cholerae โดยเฉพาะน้ำที่ไม่สะอาด อาหารทะเลดิบ หรืออาหารที่ปรุงไม่สุก นอกจากนี้ ยังพบการแพร่เชื้อร่วมกันในผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จากการปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยในอาหารหรือน้ำดื่มที่ใช้ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การติดต่อจากคนสู่คนโดยตรงนั้นพบได้น้อยมาก
หลังจากได้รับเชื้อ เชื้อแบคทีเรียจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 4–5 วัน จากนั้นจะสร้างสารพิษที่เรียกว่า Cholera Toxin ซึ่งไปกระตุ้นเซลล์เยื่อบุลำไส้ให้ขับน้ำและเกลือแร่ออกมาในปริมาณมาก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงโดยไม่ค่อยมีอาการปวดท้องและไม่ค่อยมีไข้ ลักษณะอุจจาระจะมีสีขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าว และในบางรายอาจสูญเสียน้ำมากถึง 1,000 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมักมีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยโรคอหิวาตกโรคสามารถทำได้โดยการเพาะเชื้อจากอุจจาระ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการยืนยันการติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิธีการทดสอบทางภูมิคุ้มกันเพื่อตรวจหาสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย หรือใช้ชุดทดสอบวินิจฉัยแบบรวดเร็ว (Rapid Diagnostic Test) ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง สำหรับการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปอย่างทันท่วงที โดยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (Oral Rehydration Solution – ORS) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อลดปริมาณเชื้อและอาการท้องร่วง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทาน (Oral Cholera Vaccine – OCV) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อได้ในช่วงระบาด อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคประมาณ 2 ปีเท่านั้น ดังนั้น การควบคุมและป้องกันโรคที่ได้ผลอย่างยั่งยืนยังคงต้องอาศัยหลักการ WASH ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดหาน้ำสะอาด (Water), การจัดการสุขาภิบาลที่ดี (Sanitation), และการส่งเสริมสุขอนามัย (Hygiene) หลักการเหล่านี้รวมถึงการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธี การจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะ และการให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับสุขอนามัยที่ดี”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.พญ.อาทิตยา หลวงนรา อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์