มช. ผุดไอเดีย นำฟางข้าวขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ สู่นวัตกรรมพร้อมใช้ หนุนอุตสาหกรรมเกษตรแบบยั่งยืน

15 มกราคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ฟางข้าวเป็นผลพลอยได้จากการทำนา ซึ่งในปี หนึ่ง ๆ พบว่า มีฟางข้าวปริมาณ 20ล้านตัน/ปี เป็นเศษเหลือที่ไม่ได้ใช้แค่เลี้ยงสัตว์หรือคลุมหน้าดิน แต่สามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร คิดค้นการนำเยื่อฟางข้าวมาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย สามารถสัมผัสอาหารได้โดยตรง ย่อยสลายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้พลาสติก เพราะมีจุดเด่นคือทำมาจากธรรมชาติ ไร้สารเคมี และย่อยสลายได้ 100% เป็นการยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่และมีความมั่นคงทางอาชีพ เพิ่มขีดความสามารถในภาคธุกิจและภาคอุตสาหกรรม สู่การแข่งขันในตลาดโลกได้


     
จากแนวคิดของทีมอาจารย์นักวิจัยคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุฐพัศ คำไทย ที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือและให้คำปรึกษากับชุมชนเกษตรกรที่ปลูกข้าว ที่ไม่รู้ว่าจะนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์อย่างไร จากคำแนะนำจึงมีการรวบรวมฟางข้าวในพื้นที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งแรกเริ่มเป็นการนำฟางข้าวมาทำกระดาษก่อน จากนั้น จึงได้มีการรวมกลุ่มอีกครั้งกับบริษัท SME ขนาดเล็ก โดยมีความต้องการนำฟางข้าวไปทำเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภท จาน ชาม มีคุณสมบัติพิเศษคือเข้าไมโครเวฟได้ กันน้ำได้ และเป็นมาตรฐานของ Food Grade คือมีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ฟางข้าวที่นำมาทำต้องอยู่ในข้าวในกลุ่มออแกนิค ไม่มีสารเคมีตกค้าง เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบ Green Process คือ กระบวนการที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตั้งแต่การตีเยื่อกระดาษให้เป็นเส้นใยเล็กๆ การใช้จุลินทรีย์ การใช้กาวสูตรพิเศษจากแป้งข้าว รวมถึงการพัฒนาสารเคลือบเพื่อให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค จนได้เยื่อกระดาษที่มีคุณภาพนำมาอัดขึ้นรูปเป็นภาชนะ คงรูปอยู่ได้ราว 2 ชั่วโมง ที่สำคัญคือ ย่อยสลายได้ง่าย เนื่องจาก ทำจากฟางข้าว 100% ไม่มีพลาสติกเจือปน รวมถึงช่วยลดปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาด้วย และด้วยการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความโดดเด่นและเพิ่มโอกาสทางการตลาด

การนำงานวิจัยเพื่อบริการวิชาการแก่ชุมชนถือเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มุ่งหวังให้ชุมชนเข้มแข็งและเติบโต เกิดรายได้ในท้องถิ่น สามารถเป็นโมเดลต้นแบบให้กับชุมชนอื่นได้ ซึ่งในอนาคตสามารถต่อยอดนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกข้าวโพด ใบสับปะรด แกนกันชง มาขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้เช่นกัน อีกทั้งแนวทางการนำร่องในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการทำนาปลูกข้าวจำนวนมาก รองรับต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีองค์ความรู้ของทีมนักวิจัยที่ถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่น จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในสังคมอย่างยั่งยืน


#CMU #ChiangMaiUniversity #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

SDGs #CMUSDGs #CMUSDGs3 #CMUSDGs9 #CMUSDGs13 #CMUSDGs17

แกลลอรี่