มช. ชูโครงการฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวคิด Gastronomy Tourism : LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่”

26 มกราคม 2564

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

ปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีความหลากหลายและซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมอาหารและการท่องเที่ยวต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 รูปแบบของการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างมาก นอกจากนี้แล้วอาหารยังเป็นเหมือนจุดรวบรวมระหว่างวัฒนธรรมขนมธรรมเนียม และเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ อาหารจึงเป็นองค์ประกอบการท่องเที่ยวที่สำคัญประการหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยวได้ การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับอาหาร (Gastronomic Tourism) เกิดขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการ Gastronomy Tourism: LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนารูปแบบใหม่ ให้เติบโต มีศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้ แสดงความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สามารถเผยแพร่การดำรงชีพของชาวเชียงใหม่ให้ออกสู่สากล ผ่านตัวกลางทางด้านอาหาร สามารถยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเพาะปลูกพืช การพัฒนาให้องค์ความรู้เกษตรกร และจัดการวัตถุดิบอาหารในท้องถิ่น เพื่อสร้างวัตถุดิบที่มีมาตรฐาน ซึ่งวัตถุดิบบางชนิดหาได้ในภาคเหนือ เช่น ผักเชียงดา ผักหวาน เป็นต้น จุดเด่นของพืชแต่ละชนิด มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์อย่างเด่นชัด

  


นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นด้านปศุสัตว์และการประมง เช่น การเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ไข่ไก่อารมณ์ดี และสุกร จึงต้องการพัฒนาให้มีความโดดเด่น มีคุณค่าทางโภชนาการ และสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้เกิด Molecular Agriculture ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างวัตถุดิบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้สังคมเกษตรกรเกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากนั้นส่งมอบวัตถุดิบที่มีคุณค่าสู่กลางน้ำ ผ่านการแปรรูปโดยใช้เทคนิคที่สร้างสรรค์ ร้อยเรียงมาเป็นเมนูอาหารแสดงตัวตนสู่ผู้บริโภค โดยนำเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมการปรุงอาหารล้านนา เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยใช้อาหารเป็นตัวเล่าเรื่องราว และชวนให้ทุกคนกลับมาคิดถึงเชียงใหม่ ตัวอย่างเมนูอาหารที่พัฒนาขึ้นในโครงการ ได้แก่ ลำไรซ์ ข้าวซอยอินสวย และ สปาร์คกลิ้ง อัญชัน เป็นต้น เพื่อสร้างความแปลกใหม่และเป็นที่น่าจดจำ เพื่อส่งต่อวัตถุดิบที่มีคุณภาพไปยังผู้บริโภคเป็น New LANNA Food การสร้างเมนูอาหารล้านนาใหม่ ๆ ผ่านร้านอาหารชื่อดัง Street Food ที่มียอดติดตามสูง และเชฟที่ผ่านการ Training โดยใช้หลัก Michelin Star และข้อกำหนดสุขาภิบาลอาหารปลอดภัย เชื่อมสู่การสร้าง Story Telling กับแหล่งท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง โดยผ่านการทำ Digital Marketing, Wonder Food Festival ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตตลอดห่วงโซ่ของ Gastronomy และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นำเสนออาหารล้านนาไทยรูปแบบใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Destination of Gastronomy Tourism เกิดเป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวในรูปแบบอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและสร้างรายได้สูง ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้ทุกภาคส่วนมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน


#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #GastronomyTourism #ล้านนาสร้างสรรค์

#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

#CMUSDGs #CMUSDG8 #CMUSDG9 #CMUSDG11 #CMUSDG17

แกลลอรี่