โรคผิวหนังจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน และการติดเชื้อแคนดิดา เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสภาพอากาศร้อนชื้น โดยอาการเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความรำคาญ แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง
โรคเกลื้อน
อาการ
เกลื้อนมีลักษณะเด่น คือ ผื่นวงที่มีสีแตกต่างจากสีผิว เช่น สีขาว ชมพู น้ำตาล หรือน้ำตาลเข้ม ผื่นมักมีขุยละเอียดและสามารถรวมตัวกันเป็นปื้นใหญ่ได้ อาการคันไม่ใช่จุดเด่นของโรคนี้
สาเหตุ
เกลื้อนเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่พบในผิวหนังตามธรรมชาติ เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น อากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก หรือไม่ได้อาบน้ำหลังออกกำลังกาย เชื้อจะเจริญเติบโตมากขึ้น
โรคกลาก
อาการ
ผื่นของโรคกลากมักเป็นวงกลมหรือวงรี มีขอบเขตชัดเจนและสีแดง โดยมีอาการคันที่ชัดเจนซึ่งแตกต่างจากโรคเกลื้อน
ตำแหน่งที่พบ
สามารถพบโรคกลากได้ตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ขาหนีบ หนังศีรษะ มือ เท้า และเล็บ สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการใช้ของใช้ร่วมกัน หรือการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อ
การติดเชื้อแคนดิดา
อาการ
การติดเชื้อแคนดิดามักพบในบริเวณข้อพับ เช่น ขาหนีบ รักแร้ ซอกนิ้ว หรือช่องคลอด ผื่นจะมีลักษณะอักเสบแดง มีจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่รอบ ๆ
ปัจจัยเสี่ยง
แคนดิดาเป็นเชื้อราที่พบในร่างกายตามธรรมชาติ เมื่อร่างกายมีความชื้นสะสม ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีการใช้ยาบางชนิด เชื้อจะแพร่กระจายและก่อให้เกิดอาการ
วิธีรักษาโรคจากเชื้อรา
– ยาทาภายนอก
ใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดทาภายนอกในบริเวณที่มีผื่น และควรทาเลยขอบผื่นออกไป 1-2 ซม. เพื่อป้องกันการลุกลาม
– ยารับประทาน
สำหรับอาการรุนแรง เช่น โรคกลากบริเวณหนังศีรษะ เล็บ หรือกรณีที่ยาทาภายนอกไม่ได้ผล
– แชมพูยา
ในกรณีของเกลื้อน อาจใช้แชมพูยารักษาบริเวณที่ติดเชื้อ
วิธีป้องกันการติดเชื้อราที่ผิวหนัง
• รักษาความสะอาด อาบน้ำฟอกสบู่และเช็ดตัวให้แห้งหลังเหงื่อออก
• หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนชื้นเป็นเวลานาน
• สวมเสื้อผ้าที่โปร่งและไม่รัดแน่น
• หมั่นซักเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าขนหนู และหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับผู้อื่น
• รักษาสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อราเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
โรคจากเชื้อราสามารถรักษาให้หายได้ หากดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากคุณสงสัยว่าตนเองหรือคนในครอบครัวติดเชื้อราที่ผิวหนัง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.ดร.พญ. ปานจิตต์ เชี่ยวศิลปธรรม
อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
และอ.พญ.รุจิรา รุจิเวชพงศธร
อาจารย์ประจำหน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่