มช. จับมือ หัวเว่ย ประกาศเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในอาเซียน
22 มีนาคม 2564
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วย “5G Powered Smart University Enabled with Cloud and AI” เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและการใช้เทคโนโลยี 5G ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้มีห้องเรียนอัจฉริยะและโซลูชั่นเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการมีความร่วมมือด้านวิจัยที่กว้างขึ้นแล้ว ยังให้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big Data และบริการ Cloud ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศูนย์บริหารและการจัดการเมืองอัจฉริยะ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ จะกลายเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ โดยได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลล่าสุดและบริการขั้นสูงด้วยเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ
บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนและเป็นผู้นำด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เพิ่มพูนเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะซึ่งนอกเหนือจากข้อได้เปรียบทางวิชาการแล้วยังเป็นแบบอย่างสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะรับทราบถึงประโยชน์ของโซลูชันที่รวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับธุรกิจเฉพาะของตน
ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีพร้อมด้วย นายพิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับหัวเว่ย ว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการพัฒนาในยุคดิจิทัล เทคโนโลยี 5G นับว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในทุกๆ ด้าน อาทิ Smart Agriculture, Smart Hospital, Smart City, Smart Port, Smart Campus, Smart Store และ Smart Entertainment เพื่อสร้างการเติบโตทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เพื่อการศึกษาและนำไปสู่ Digital Transformation ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลชั้นนำ และยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาประเทศได้”
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือของ มช. กับ หัวเว่ย ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัย ที่จะนำความทันสมัยของเทคโนโลยี 5G มาขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีสนับสนุนการวิจัยที่รองรับการเติบโตของโลกยุคดิจิทัล และนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในอาเซียน CMU : Moving Forward to “5G Campus : First in ASEAN” (The First 5G campus in ASEAN) ยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยให้ดียิ่งขึ้น” ในส่วนของศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดี ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรทางวิชาการเป็นอย่างดี และผมมั่นใจว่าความร่วมมือในวันนี้จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ ไม่เพียงแต่ด้านการศึกษา แต่รวมทั้งการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะนโยบายของเราคือการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยเราจะสร้างความร่วมมือกับองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนต่างๆ เพื่อการเป็น 'มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มุ่งมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน'”
ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ได้กล่าวสั้นๆ ถึงความร่วมมือในวันนี้ว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง หัวเว่ยมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนางานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนนักศึกษากว่า 35,000 คน โดยการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวไม่เพียงแต่นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคม ท้องถิ่น และประเทศโดยรวม”
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับหัวเว่ยครั้งแรกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ผ่านโครงการ Huawei ICT Academy ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรภาคปฏิบัติและการฝึกอบรมภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลต่อไป
ด้านนายพิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง และที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับหัวเว่ย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยว่า “ความร่วมมือครั้งนี้จะยกระดับขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 5G ที่นำเทคโนโลยี คลาวด์และ AI มาช่วยจัดการเรียน การสอนและการดําเนินการวิจัย ผมมั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 ได้
ในขณะที่ รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. ก็ได้ร่วมแสดงความยินดีด้วยการมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีในโอกาสที่ มช. และ หัวเว่ย ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือร่วมกันในวันนี้ด้วย