ไขข้อข้องใจ: ฉีดวัคซีน “mRNA” กับความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

27 กรกฎาคม 2564

คณะแพทยศาสตร์

ไขข้อข้องใจ: ฉีดวัคซีน “mRNA” กับความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

วัคซีนแต่ละชนิดนั้น จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย วัคซีนกลุ่ม mRNA ซึ่งก็คือวัคซีนจากบริษัท Pfizer และ Moderna จากการวิจัยพบว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีผลข้างเคียงที่มีคนเริ่มกังวลในวัคซีนกลุ่มนี้ได้แก่ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเจอได้มากขึ้น โดยพบครั้งแรกประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนกลุ่ม mRNA ค่อนข้างมาก มีรายงานเคสออกมาเรื่อยๆและมีการติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

สาเหตุยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าตัววัคซีนเองหรือสารประกอบ ทำให้ภูมิต้านทานของเราไปทำร้ายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่อุบัติการณ์ในการเกิดพบน้อยมากโดยพบจากผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ประมาณเฉลี่ย 12 คนในล้านคน โดยจะพบมากในกลุ่มอายุน้อย อายุต่ำกว่า 30 ปี ยิ่งอายุน้อยมากเท่าไหร่ อุบัติการณ์ที่พบก็จะสูง และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงหลายเท่าตัว

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจจะมาด้วยการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ถ้าอาการรุนแรงอาจจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือช๊อคได้ แต่จากรายงานพบว่า ผู้ที่มีภาวะนี้ (ผลข้างเคียงจากวัคซีน) มากกว่า 95% มีอาการค่อนข้างน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย ที่ตรวจพบได้จากการเจาะเลือดหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานของการเสียชีวิตจากการเกิดภาวะนี้

ในกลุ่มเด็ก ที่วัคซีนกลุ่มอื่นยังไม่มีข้อมูลที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง mRNA วัคซีนมีข้อมูลที่สามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ซึ่งการได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 1,000 คนและป้องกันการเสียชีวิตได้ 10 กว่าคน เมื่อเทียบกับอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรืออัตราการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด ประโยชน์และโทษ ก็ยังมีความคุ้มค่าในการให้วัคซีนในเด็กอยู่

การเกิดการติดเชื้อโควิดไม่ใช่เฉพาะการนอนโรงพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังตามมาด้วย เช่น การเกิดการอักเสบหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งอาจจะมีผลในระยะยาว ดังนั้นในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตามเราก็ควรจะตัดสินใจด้วยตัวเราเองว่าเรามีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน เช่น ถ้าเป็นผู้ชายอายุน้อย ความเสี่ยงอาจจะมาก ถ้าเป็นผู้หญิงหรือวัยรุ่นตอนปลาย ความเสี่ยงก็อาจจะลดลงเรื่อยๆ สำหรับในผู้ใหญ่ ความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ต่ำมากๆ ไม่ถึง 1 ในล้าน จนแทบไม่ต้องกังวลผลค้างเคียงนี้

สำหรับความกังวลว่า อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนเข็ม 2 นั้นจะมากขึ้นเพียงใด และจะรับเข็ม2 ได้หรือไม่ ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้ฉีดถ้าอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่รุนแรง

ข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และเพื่อประกอบการตัดสินใจ บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องในเชิงวิทยาศาสตร์

ข้อมูลโดย
อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
อาจารย์สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามผ่าน Youtube : https://bit.ly/3BJQQyU

#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU
#COVID19
#ใส่Mask #เว้นระยะห่าง #ล้างมือ

แกลลอรี่