5 ส. รับมือ COVID-19 ในเด็กก่อนไปโรงเรียน

28 มกราคม 2564

คณะแพทยศาสตร์

ในยุคการระบาดของโควิด-19 โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กและผู้ปกครองส่วนใหญ่คงมีความกังวลไม่น้อยในการเปิดเรียนตามกำหนดของโรงเรียน สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมจะรับมือและเตรียมสถานที่เรียนอย่างไรให้ปลอดภัย เด็กไม่ป่วย วันนี้หมอมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง และครูในโรงเรียนด้วยหลักการง่ายๆ 5ส. ดังนี้
ส.1 สื่อสารข้อมูล (sharing information)
สำหรับเด็กโรคโควิด-19 ไม่ได้พบบ่อย และมักไม่แสดงอาการรุนแรง อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ใหญ่มาก ดังนั้น ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ปกครองลดความวิตกกังวล ทางโรงเรียนสามารถเตรียมข้อมูลร่วมกับแพทย์ผู้ให้คำปรึกษา หรือพยาบาลประจำโรงเรียน ในการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่สำคัญ ได้แก่ สาเหตุการเกิดโรค การติดต่อ อาการ การตรวจรักษา และการป้องกัน เป็นต้น สื่อสารให้ผู้ปกครองก่อนโรงเรียนเปิด เพื่อจะได้สื่อสารข้อมูลให้กับผู้ปกครองและเด็กก่อนโรงเรียนเปิด
ส.2 สกรีนโรค(screening)
โรงเรียนควรมีการตรวจคัดกรองโรค ตรวจเช็คผู้ปกครองและเด็กในโรงเรียน มีการวัดอุณภูมิก่อนเข้าโรงเรียนทุกเช้า หากมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขอให้หยุดพักเรียน หรือไปพบแพทย์ สำรวจประวัติการสัมผัสโรคของผู้ปกครองหรือความเสี่ยงของการติดโรค เช่น ประวัติการเดินทางของผู้ปกครอง หากพบไปในเขตเสี่ยงขอให้มีการรายงานโรคทุกวัน ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ปกครอง หรือคนในบ้าน และประวัติการเจ็บป่วยของเด็ก
ส.3 สุขอนามัย(sanitation) มีหลักการดังนี้คือ
1. การล้างมือหรือทำความสะอาดมือ มีความสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคโควิด-19 โรงเรียนควรมีอ่างล้างมือที่สามารถใช้น้ำหรือสบู่ในการล้างมือให้เพียงพอ และควรจะมีการฝึกวิธีการและขั้นตอนการล้างมือให้เด็กเพื่อสามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง นอกจากนี้แล้วทางโรงเรียนสามารถจัดแอลกอฮอล์แจลในจุดต่างๆเพื่อให้เด็กทำความสะอาดมือได้
2. การใส่หน้ากากอนามัย โรงเรียนต้องแนะนำหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมให้กับเด็ก รวมทั้งสอนวิธีการใส่ และการปรับหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องรวมทั้งการตรวจเช็คระหว่างวัน และควรจัดหาหน้ากากอนามัยสำรองให้กับเด็ก
3. เว้นระยะห่างทางสังคม โรงเรียนควรมีการจัดสติกเกอร์บนพื้นทิ้งระยะห่าง เช่น ตอนเข้าโรงเรียน ประมาณ 1 เมตร เพื่อให้เป็นตัวอย่างให้มีการตระหนักและระวังในการเว้นระยะห่าง ที่สำคัญคือ ในห้องเรียน ควรมีการจัดโต๊ะ เก้าอี้ นักเรียนห่างกันประมาณ 1 เมตร และ ในห้องเรียนมีนักเรียนไม่เกินราว 20 คน มีการระบายอากาศที่เพียงพอ หรือการจัดกิจกรรมในที่โล่ง สำหรับเด็ก เช่น ในสนาม หรือในสวน
4. การทำความสะอาด อาคารสถานที่ ห้องเรียน และของเล่น รวมทั้งอุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ สมุด ยางลบ และอุปกรณ์การเรียนเหล่านี้ ควรเน้นให้เป็นส่วนตัว แนะนำให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวบ่อยๆ โดยใช้น้ำยาที่มีความเหมาะสม เช่น น้ำยากลุ่มไฮโปคลอไรท์ เป็นต้น
ส.4 สอบสวน (surveillance)
โรงเรียนควรจะมีการเก็บข้อมูล ของนักเรียนและผู้ปกครองทั้งหมด ได้แก่ อาการป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ การรักษา การนอนโรงพยาบาล เป็นต้น การสัมผัสโรคหากมีเด็กนักเรียนในโรงเรียนป่วย ต้องตรวจสอบว่ามีการเจ็บป่วยในครอบครัวหรือไม่ มีรายละเอียดอย่างไร โรงเรียนควรมีข้อมูลจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อสามารถติดตามโรค และอาการได้อย่างทันการณ์
ส.5 ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน (strengthen immunity)
โรงเรียนและผู้ปกครองควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการดูแลเด็ก ให้มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ มีภูมิคุ้มกันร่างกายสูง สามารถป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี โดยการส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบสัดส่วน เน้นการทานผักผลไม้หลากสี เช่น กล้วย และผลไม้ประเภทเบอรี่ จะทำให้เด็กได้รับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มสารอาหารเสริมที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามินซี วิตามินดี และโปรไบโอติก เป็นต้น ทางโรงเรียนควรลดอาหารที่มีรสหวาน หรือขนมหวาน รับประทานอาหารปรุงสุกร้อน ให้เด็กนอนหลับให้เพียงพอ ทำจิตใจสบายไม่ให้มีความเครียด หรือวิตกกังวลเกินไป การออกกำลังกายสัมผัสแสงแดดอ่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อน 9 โมงเช้า หรือหลังบ่าย 3 โมง
ข้อมูลโดย ศ.ดร.พญ.เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่