มือเอกวิศวฯ เครื่องกล มช. ผุดเครื่องเตือนภัยฝุ่นขนาดเล็กอัจฉริยะ ร่วมบริหาร จัดการ ป้องกันภัยหมอกควันในภาคเหนือตอนบน

18 พฤษภาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์

          ณ ปัจจุบัน ปัญหาหมอกควัน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลต่อสุขภาวะและอนามัยของประชาชนในวงกว้าง หลายคนอาจไม่เคยรับทราบ และเข้าใจว่ามลภาวะข้างต้นนั้นสามารถสะสมในร่างกาย และค่อย ๆ ทำลายสุขภาพของมนุษย์ให้แย่ลงได้เสมอ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งภูมิภาค เล็งเห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาข้างต้นอย่างลึกซึ้ง จึงดำเนินโครงการ “การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในชุมชนภาคเหนือตอนบนด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ” พร้อมมอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้นำใน การดำเนินงาน และติดตั้งอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็กแก่ชุมชนนำร่อง คือ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน จำนวน 80 จุด

          โครงการดังกล่าวสนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งการจัดการปัญหาหมอกควันโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัย และป้องกันประชาชนในชุมชนจากภัยของฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัว พร้อมปกป้องตนเองจากโรคภัยอันเกิดขึ้นเพราะมลภาวะหมอกควัน นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ยังได้รับทราบข้อมูลเตือนภัยที่เป็นปัจจุบันสอดคล้องตรงกันกับข้อมูลในชุมชน ทำให้เตรียมพร้อมดำเนินการได้ทันท่วงที และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หน่วยป้องกันไฟสามารถติดตามสถานการณ์ร่วมกับตำรวจบ้านในชุมชน โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถเตรียมรับผู้ป่วย หรือผู้รับผลกระทบรุนแรงจากหมอกควันได้ทันเวลาจากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับอาสามสมัครในชุมชนส่งผลให้ประชาชนในชุมชนเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจลดลง และสร้างเสริมสุขภาวะและอนามัยให้ผู้คนในชุมชน ชาวบ้านทุกช่วงวัยมีสุขภาพแข็งแรง ลดอัตราการเจ็บป่วย ทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันไฟป่าของหน่วยงาน ตลอดจนโรงพยาบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ให้รับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควันได้ ทั้งยังส่งเสริมการเป็นเมืองอัจฉริยะด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน ถือเป็นมิติใหม่ของการนำประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลการเตือนภัยอย่างง่ายดายทันท่วงทีด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน หรือหัวหน้าเครือข่ายในหมู่บ้านนั้น ๆ

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการฯ เน้นเป้าหมายดำเนินการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับชุมชนด้วยประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงว่าประชาชน รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ ควรทราบสถานการณ์หมอกควันที่เป็นปัจจุบันและเกิดขึ้นจริง ดังนั้น จำนวนจุดที่ติดตั้งอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) จำต้องมีความถี่ระดับหมู่บ้าน ทั้งยังตรวจวัดและเก็บข้อมูลฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสร้างเป็นแผนที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์บนเครือข่ายดิจิทัลออนไลน์แก่ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานในพื้นที่ สำหรับใช้ในการเฝ้าระวัง พร้อมเตือนภัย รวมทั้งเตรียมพร้อมป้องกันปัญหาด้านสุขภาพอันเกิดขึ้นจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งชาวบ้านในชุมชนสามารถเข้าถึงเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กของชุมชนจนเองได้ อีกทั้งร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ปฏิบัติการตามแนวทางการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในชุมชน

         โครงการฯ เลือกพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนต้นแบบ ประกอบด้วย 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านโฮ่ง, ตำบลป่าพลู, ตำบลเหล่ายาว, ตำบลศรีเตี้ย และตำบลหนองปลาสะวาย มีหมู่บ้านทั้งหมดจำนวน 62 หมู่บ้าน เนื่องด้วยได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (Effective Change) ประจำปี 2561 จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผลงานเรื่อง การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายการบูรณาการจัดการปัญหาหมอกควันในพื้นที่ชุมชนบ้านโฮ่งหลวง ตำบลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยชุมชนเป็นฐาน ปี 2561 กรมควบคุมโรค และขยายผลการดำเนินงานต่อเนื่องไปทุกตำบลทั่วทั้งอำเภอ ซึ่งเน้นการจัดการปัญหาหมอกควันในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ (HCG Model)

กิจกรรมที่ดำเนินงานตามโครงการ มีดังนี้

         1) สร้างอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) แบบออนไลน์ชนิดไร้สาย โดยออกแบบและสร้างอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดกะทัดรัด สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก วัดค่าต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเกิดฝุ่น และประมวลผลค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ประกอบด้วย ค่า PM2.5, PM10, อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ, ค่าแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ ได้แก่ แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และ GPS บอกตำแหน่งที่ตั้งชุดวัดฝุ่น โดยเก็บข้อมูลการตรวจวัดอากาศตลอดเวลาที่เปิดเครื่อง ผ่านระบบเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ (3G/4G)


        2) ติดตั้งอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) สำหรับเฝ้าระวัง / แจ้งเตือน ให้กับชุมชนในอำเภอบ้านโฮ่ง จำนวน 62 หมู่บ้าน, สถานที่ราชการ จำนวน 18 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 80 จุด


        3) ติดตาม แสดงผล และเฝ้าระวัง / แจ้งเตือนข้อมูลฝุ่น แบบออนไลน์บนระบบอินเตอร์เน็ต ด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 ได้แก่

• แผนที่ฝุ่น
         อุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้งหมด 80 จุด สร้างเป็นแผนที่ฝุ่นในแต่ละหมู่บ้านรวมทั้งอำเภอบ้านโฮ่ง เป็นแผนที่วาดให้รู้ขอบเขตของหมู่บ้าน บน Web Application แสดงเป็นระดับโทนสีของคุณภาพอากาศบนแผนที่ออนไลน์ โดยประชาชนสามารถเข้าดูข้อมูล เพื่อใช้เฝ้าระวังสภาวะฝุ่นควัน ณ พื้นที่นั้น ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเว็บไซต์ http://dustnorthernthailand.org




• Dashboard
        คือ รูปแบบแสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศเป็นแถบโทนสีดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละหน่วยงาน โดยสามารถเลือกจุดที่ต้องการดูข้อมูลคุณภาพอากาศรายจุดติดตั้ง หรือ แผนที่คุณภาพอากาศได้

• แจ้งเตือนผ่านกลุ่ม Line Notify
       ระบบการแจ้งเตือนค่าที่ได้จากการตรวจวัดของ PM2.5 และ PM10 ทั้งหมดผ่าน Line Notify ทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม ทต.บ้านโฮ่ง, กลุ่ม ทต.ศรีเตี้ย, กลุ่ม อบต.ป่าพลู, กลุ่ม อบต.เหล่ายาว, กลุ่ม อบต.หนองปลาสะวาย, กลุ่ม อบต.เวียงกานต์ และกลุ่มหน่วยงานราชการ


4) สร้างระบบห้องควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบอัตโนมัติในชุมชน

         สร้างห้องปลอดฝุ่น (Safe Zone) ที่มี ระบบควบคุมปริมาณฝุ่นอัตโนมัติ จำนวน 6 ห้อง ให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.เหล่ายาว (ห้องเบญจมาศ ชั้นเตรียมอนุบาล 1/2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.ป่าพลู (ห้องเรียน (อาคารหน้า))ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.หนองปลาสะวาย (ห้องหมีน้อย ชั้นเตรียมอนุบาล 2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยหละ (ห้องประชุม ชั้น 2) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านโฮ่ง (ห้องสำนักงาน) และที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง (ห้องประชุม ชั้น 2)เพื่อป้องกันและบรรเทาการเจ็บป่วย หรืออาการของโรค แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเลือกสถานที่ให้กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกและทันท่วงที

ตู้ควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบอัตโนมัติ

5) อบรมสัมมนาให้องค์ความรู้กับประชาชนในชุมชนต้นแบบ

         ประชาชนในพื้นที่มีความรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีความพร้อมในการเฝ้าระวังเตือนภัยสุขภาพของคนในชุมชน รู้แนวปฏิบัติ การใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัด การแจ้งเตือนสื่อสาร และแนวทาง Safe Zone ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการ พร้อมด้วยคุณณัฐพงศ์ ณ น่าน รองผู้จัดการโครงการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่โครงการฯ ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่, สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านโฮ่ง และโรงพยาบาล บ้านโฮ่ง ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการอบรมสัมมนาให้องค์ความรู้ฯ บรรยาย ถาม-ตอบ และฝึกปฏิบัติสิ่งที่เกี่ยวข้อง เน้นการมี ส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมให้มีการถาม-ตอบ แสดงความคิดเห็น และฝึกปฏิบัติจริง ก่อเกิดความเข้าใจจนสามารถนำไปปฏิบัติ ทั้งยังถ่ายทอดให้ประชาชนในพื้นที่ของตนได้เองด้วย


ไฟล์แนบ
แกลลอรี่