โรคต้อในตา
10 พฤศจิกายน 2565
คณะแพทยศาสตร์
โรคต้อในตา เป็นโรคที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้สูงอายุ หากแต่ดวงตาจะเสื่อมไปตามกาลเวลา ไม่ขาวใสเหมือนเด็กน้อย แต่การดูแลสุขภาพของดวงตา สามารถชะลอการเสื่อมของดวงตาได้ อย่างน้อยสามารถยืดอายุการใช้งานก่อนเข้าสู่วัยชรา
โดยโรคต้อในตามีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ โรคต้อลม โรคต้อเนื้อ โรคต้อกระจก และโรคต้อหิน ซึ่งทั้งหมดนี้ระดับความรุนแรงของโรคนั้น จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
1.โรคต้อลม
โรคต้อลม ไม่ใช่โรคอันตราย ไม่มีผลกระทบต่อการมองเห็น เพียงแต่ต้อลม จะรู้สึกระคายเคืองดวงตาเมื่อเกิดอาการอักเสบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และหากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษา ต้อลมจะลุกลามและกลายเป็นต้อเนื้อในที่สุด
ลักษณะของต้อลม
เป็นการหนาตัวของบริเวณเยื่อบุตาขาวในลูกตาเสื่อมสภาพ เริ่มจากการมีก้อนสีเหลืองเกิดขึ้น หากมีการอักเสบ จะกลายเป็นสีแดง โดยที่ก้อนนี้จะค้างอยู่ในตาตลอด ไม่มีการหายไป
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดต้อลม
เมื่อดวงตาสัมผัสสิ่งกระตุ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลม ฝุ่น ควัน มลภาวะ ลมร้อน แสงแดดหรือรังสียูวีมากกว่าปกติ มีปัจจัยกระตุ้น ความหนาตัวของเนื้อเยื่อบริเวณตาบางรายอยู่บริเวณหัวตา หรือหางตา มีลักษณะเป็นก้อนนูน ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองบริเวณดวงตา รู้สึกแสบตาได้ง่าย รับแสงแดด หรือรังสียูวีไม่ค่อยได้ ในบางรายมีอาการระคายเคืองมาก จนทำให้ตาแดงจนน้ำตาไหล โรคนี้ไม่อันตราย ไม่ทำให้ตาบอด แต่ว่าจะทำให้มีอาการมากขึ้น จนกลายเป็นต้อเนื้อที่ตาได้
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการสัมผัสแสงแดด หรือรังสียูวีค่อนข้างมาก บางรายที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์โดยไม่ได้สวมแว่นตากันแดด หรือสวมหมวกนิรภัย ทำให้ดวงตาได้รับการสัมผัสลมอยู่ตลอดเวลา จนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และเป็นก้อนเนื้อที่เป็นต้อลมได้
*อาชีพที่เสี่ยงในการเป็นต้อลม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพนอกอาคารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาชีพเกษตรกรรม อาชีพที่สัมผัสรังสียูวีในปริมาณที่มาก หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่นการสูบบุหรี่ หรือการสัมผัสฝุ่นควัน ทั้งหมดเหล่านี้จะเป็นสิ่งกระตุ้น ต่อการเป็นต้อลมได้ง่าย
2.โรคต้อเนื้อ
เป็นต้อที่พัฒนาจากต้อลมมาก่อน เป็นภาวะที่มีลักษณะของเนื้อเข้ามาบริเวณขอบตาขาว แล้วงอกยื่นเข้าไปในบริเวณตาดำ ซึ่งต้อเนื้อนี้ เมื่อมีการงอกเข้ามาในตาดำแล้วจะไม่หาย ผู้ป่วยต้อเนื้อเกิดจากต้อลมและไปสัมผัสกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็น ลม ฝุ่น แสงแดดหรือรังสียูวี ควัน เมื่อมีการกระตุ้นมากๆ จะทำให้ต้อลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนกระทั่งเข้าในตาดำ กลายเป็นต้อเนื้อ
ปัจจัยการกระตุ้น
จะเป็นปัจจัยกระตุ้นอย่างเดียวกันกับต้อลม ปัจจัยหลักที่สำคัญมากที่สุดคือแสงแดด หรือรังสียูวี ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อก่อให้มีการเกิดตัวของก้อนเนื้อ โดยเริ่มแรกจะมีสีเหลือง หากมีลักษณะใหญ่ขึ้นมาก จนเกิดการอักเสบจะมีลักษณะเป็นสีแดง เพราะมีเส้นเลือดเริ่มวิ่งเข้าไปบริเวณเนื้อเยื่อ เพราะฉะนั้น อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อลม โดยมีอาการระคายเคืองตาง่าย สัมผัสแสงไม่ค่อยได้ แสบตาง่าย และในผู้ป่วยที่มีอาการมาก จะทำให้บดบังด้านการมองเห็นกระจกตา และทำให้สายตาเอียงได้
สัญญาณเตือนให้สังเกตจากผู้ป่วยเป็นหลัก
ให้สังเกตดวงตาเป็นประจำทุกวัน จากการส่องกระจก สำรวจดวงตาว่ามีความผิดปกติหรือไม่ มีก้อนเนื้อ หรือลักษณะของสีที่ผิดปกติภายในดวงตาหรือไม่ หากมีความผิดปกติ สามารถพบจักษุแพทย์ได้ เพื่อความเร็วขึ้นในการรักษา
โดยต้อเนื้อนี้ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ผู้ป่วยที่อายุน้อยขึ้นไป โดยพบมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการสะสมระยะเวลาของช่วงอายุ
การป้องกันและการรักษาต้อลม และต้อเนื้อ
-สวมใส่แว่นกันแดด
-หากมีอาการระคายเคือง ให้เลือกใช้น้ำตาเทียมหยอดเพื่อความสบายต่อดวงตา
ในส่วนของโรคต้อเนื้อหากอาการไม่ดีขึ้น เพราะก้อนเนื้อที่งอกเข้าในตาดำ จะทำให้เกิดอาการไม่สบายตา ในบางรายกลอกตาลำบาก ทำให้การมองเห็นผิดเพี้ยนไป ดังนั้นในบางรายที่มีอาการมากถึงขั้นบดบังการมองเห็น แพทย์จะทำการผ่าตัด เพื่อนำก้อนเนื้อออก ให้ดวงตากลับมามองเห็นได้ดังเดิม
*สำหรับการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด สามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล
3.โรคต้อกระจก
เกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตา จนทำให้เลนส์ตาขุ่น มีการบดบังต่อการมองเห็น ตาพร่า ภาพไม่ชัด ภาพซ้อน
สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจก
-การเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามวัย เกิดตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป 60-70 เปอร์เซ็นต์ จะมีภาวะขุ่นของเลนส์ตา สุดท้ายจะมีการผ่าตัดเพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น
-เกิดขึ้นโดยกำเนิดจากพันธุกรรม หรือการติดเชื้อบางอย่างตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในเด็กบางรายสามารถเป็นต้อกระจกได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด รักษาด้วยการผ่าตัดด้วยเช่นกัน
ปัจจัยกระตุ้นระหว่างการเกิดต้อกระจก
-สัมผัสแสงแดดในปริมาณมาก โดยปราศจากการสวมแว่นกันแดด
-การสูบบุหรี่
-การใช้ยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นยาหยอด ยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่น โดยยากลุ่มนี้สามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้ทั้งหมด เมื่อมีการทายาสเตียรอยด์ บริเวณที่ผิวหนัง หากทาในปริมาณมาก และต่อเนื่องเป็นปี ก็จะสามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน
-ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักจะพบบ่อยที่สุด เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ
-ผู้ป่วยที่สายตาสั้นมาก (ประมาณ 600 ขึ้นไป) ในบางรายจะมีการเสื่อมของเลนส์เร็วขึ้น และทำให้เกิดภาวะต้อกระจกได้เร็วขี้นอีกด้วย
-ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ เมื่อวัสดุต่างๆกระทบต่อดวงตา จะทำให้เกิดการอักเสบ
-การสัมผัสรังสีอื่นๆ เช่นการเจียรเหล็ก หรือรังสีในปริมาณมาก สามารถกระตุ้นให้เลนส์ตาขุ่น และกลายเป็นต้อกระจกได้
การป้องกันและการรักษา
หากมีอาการในระยะแรก แนะนำให้ป้องกันจากสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นก่อน เช่นผู้ป่วยเบาหวาน แนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาล หรือผู้ที่สัมผัสรังสียูวีในปริมาณที่มาก เช่น นักกอล์ฟ หรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แนะนำให้สวมใส่แว่นกันแดด หากไม่สะดวกแนะนำให้สวมหมวกปีกกว้าง ที่สามารถบดบังแสงแดด หรือรังสียูวี เพื่อลดการสัมผัสแสงแดดหรือรังสียูวี กระทบต่อดวงตาให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้
วิธีการรักษา
หากเป็นต้อกระจกมาระยะหนึ่งแล้ว และบดบังการมองเห็นการรักษาจะเน้นการผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก โดยอุปกรณ์มีลักษณะคล้ายปากกาดูดเลนส์ เพื่อนำต้อกระจกออกมา และใส่เลนส์เทียม ที่มีลักษณะใสทดแทน เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ดังเดิม โดยเลนส์ที่ใส่สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต
แผลจากการผ่าตัด มีขนาดเล็กประมาณ 2.8 มิลลิเมตร ระยะเวลาในการผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 15 นาที โดยไม่ต้องเย็บแผล และหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าสามารถกลับไปนอนพักที่บ้าน หรือโรงพยาบาล และไม่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
4.โรคต้อหิน
เป็นภาวะที่ความดันในลูกตาสูง ทำให้ทำลายขั้วประสาทตา โดยปกติขั้วประสาทตาจะมีลักษณะเล็ก แต่ในผู้ป่วยโรคต้อหิน จะพบว่าขั้วประสาทตาใหญ่ขึ้น
ปัจจัยหลักของการเกิดต้อหิน
ความดันในลูกตาที่สูงขึ้น จนทำลายเส้นประสาทบริเวณของขั้วตา แพทย์จะทำการตรวจ ด้วยการวัดความดันของลูกตา เมื่อผู้ป่วยเป็นต้อหิน จะทำให้การมองเห็นสูญเสียไปเรื่อยๆ จนกระทั่งการมองเห็นลานสายตาแคบลง ซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก
ปัจจัยกระตุ้นของการเกิดต้อหิน
-อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรเช็คความดันตาอย่างน้อยปีละครั้ง หรือ 2-3 ปีต่อครั้ง
-พันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีประวัติทางครอบครัว เช่น พ่อแม่เป็นต้อหิน โอกาสที่จะเป็นต้อหินจะเพิ่มมากขึ้น
-การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน พ่น หยอด ทา ทุกอย่างที่สามารถซึมเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ความดันในลูกตาสูงได้
-เบาหวาน มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดต้อหิน เพิ่มมากขึ้น และเบาหวานจะขึ้นจอประสาทตา ทำให้เลือดออกบริเวณจอประสาทตา
*แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานพบจักษุแพทย์ อย่างน้อยปีละครั้ง เพราะตรวจต้อกระจก เช็คความดันตา และภาวะเบาหวานขึ้นตา โดยการขยายม่านตา และตรวจเช็คจอประสาทตาด้านหลัง
การคัดกรองโรคต้อหิน
-การวัดความดันลูกตา
-การส่องดูขั้วประสาทตา โดยจักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมากน้อยแค่ไหน
การป้องกันและการรักษา
ผู้ป่วยสามารถพบจักษุแพทย์ หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหินมาก่อน อย่างน้อยปีละครั้ง
เมื่อจักษุแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต้อหิน
แพทย์จะรักษาด้วยการหยอดยา ให้แก่ผู้ป่วย แนะนำให้หยอดยาเป็นประจำทุกวัน ไม่ควรหยุดหรือขาดการหยอดยา เนื่องจากยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ด้วยการลดความดันตา หากลืมหยอดตาจะทำให้ความดันตาจะสูงขึ้น และทำลายจอประสาทตา หรือขั้วประสาทตาด้านหลัง ทำให้การมองเห็นแย่ลง
*การหยอดยาไม่ได้ทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่ทำเพื่อการรักษาไม่ให้ตาบอด หากยาหยอดตา ไม่สามารถลดความดันตาได้เพียงพอ แพทย์จะทำการผ่าตัดตาในขั้นตอนต่อไป
ดังนั้นการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องระมัดระวังในการถนอมสายตา และปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาการมองเห็นที่ดี ให้นานเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้จะมีผลกระทบต่อดวงตาเพิ่มขึ้น และสำคัญที่สุดควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพของดวงตา อย่างน้อยปีละครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก...ผศ.พญ.จุฬาลักษณ์ ตั้งมั่นคงวรกูล อาจารย์ประจำหน่วยกระจกตาและการแก้ไขสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่