เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ ท้องอย่างไรไม่ให้อ้วน ลูกน้อยแข็งแรงสุขภาพดี

24 กันยายน 2563

คณะแพทยศาสตร์

ปัจจุบันการการเตรียมสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ให้พร้อมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก หากคุณพ่อคุณแม่แข็งแรงและมีสุขภาพดี มีการวางแผนที่ดี และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการตั้งครรภ์ และดูแลสุขภาพในช่วงตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์ ย่อมมีโอกาสส่งผลต่อการให้กำเนิดลูกน้อยที่สมบูรณ์แข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดีได้อีกด้วย

รศ.พญ.สุชยา ลือวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “การเตรียมความพร้อมด้านร่างกายของคุณแม่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน หรือ โรคอ้วน ซึ่งสามารถหาค่าตามดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) สำหรับคนอ้วนจะมีปัญหามีบุตรยากมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า และเมื่อตั้งครรภ์แล้วอาจมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ตามมา แต่หากยังไม่ตั้งครรภ์แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาโรคเบาหวาน และ ต่อมธัยรอยด์ นอกจากนี้เมื่อพบว่ามีน้ำหนักสูงเกินมาตรฐาน ควรตั้งเป้าหมายหากลดน้ำหนักลง 10 เปอร์เซ็นต์ก่อนตั้งครรภ์ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ รวมถึงการเตรียตัวโดยการใช้วิตามินช่วย เสริมกรดโฟลิคเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เพราะช่วยในการสร้างตัวอ่อน ป้องกันภาวะผิดปกติของเด็ก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการบางอย่างได้

อย่างไรก็ตามช่วงตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้คุณแม่ลดน้ำหนัก แต่ก็ควรเพิ่มน้ำหนักอย่างเหมาะสม ถ้าก่อนตั้งครรภ์มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ คือมีค่า BMI น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ควรอยู่ที่ 13 - 18 กิโลกรัม หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ คือมีค่า BMI 25 – 29.9 ก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ควรอยู่ระหว่าง 7 – 11 กิโลกรัม สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน คือมีค่า BMI เกิน 30 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ควรอยู่ระหว่าง 5 – 9 กิโลกรัม แม้ว่าทารกในครรภ์จะต้องการสารอาหารที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต แต่น้ำหนักที่มากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ เพราะอาจทำให้ทารกตัวใหญ่และอาจมีปัญหาในภายหลังเนื่องจากมีน้ำหนักตัวตอนเกิดที่มากเกินไป เช่น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืด โรคอ้วนในวัยเด็กมากขึ้น การเจริญเติบโตผิดปกติ ปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าเด็กปกติ เพิ่มความเสี่ยงการเกิด Metabolic syndrome (ภาวะเกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ)
สำหรับการคุมอาหารช่วงตั้งครรภ์ แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท ธัญพืช ถั่ว( ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว) ผักสีเขียวและเหลือง โดยข้อดีของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จะมีการแปลงเป็นพลังงานอย่างช้าๆ ใช้พลังงานสะสมในรูปแบบไขมันก่อน หลีกเลี่ยง อาหารหรือของว่าง ที่บอกว่า"แคลอรี่ต่ำ หรือ แคลอรี่เป็น O" ให้เลือกกินผลไม้ ถั่ว เป็นของว่างแทน ดื่มน้ำอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน ทานบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงทานน้อยมื้อแต่ทานเยอะ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เน้นออกกำลังกายความแรงระดับกลางและ แบบคาร์ดิโอ คือ ร่างกายรู้สึกเหนื่อย หายใจหอบ มีเหงื่อ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน
สำหรับคุณแม่ที่เตรียมตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ แม้ว่าการเตรียมความพร้อมด้านร่างกายระหว่างตั้งครรภ์จะสำคัญ แต่อย่าลืมดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่ให้ดีด้วย ไม่เครียด หรือวิตกกังวลพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าคุณมีความสุข ลูกในท้องก็จะมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง พัฒนาการได้อย่างเต็มที่”
*******************************
แกลลอรี่