ระวังโรคที่มากับหน้าร้อน

22 เมษายน 2567

คณะแพทยศาสตร์

ในช่วงฤดูร้อน การรับมือกับโรคที่พบบ่อยเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรมีความคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนขึ้น ต้องมีความระมัดระวังและรู้จักการป้องกันโรคที่พบบ่อยในฤดูร้อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงได้อย่างไม่มีกังวลในฤดูร้อน ซึ่งการเผชิญกับอากาศร้อนมักเป็นเหตุให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคผิวหนังโรคจากความร้อน และโรคทางเดินหายใจ ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดและการป้องกันโรคที่มาพร้อมกับอากาศร้อน โดยในบทความนี้ได้อธิบายเกี่ยวกับโรคที่พบบ่อยในฤดูร้อน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการรับมือกับโรคในช่วงฤดูร้อนได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว

โรคจากสภาวะความร้อน ผดผื่น
(พบบ่อยในเด็กและผู้สูงอายุ) มักเป็นผดผื่นขี้นตามร่องพับ ใต้ร่มผ้า มีอาการระคายเคือง ตุ่มแดง แสบได้ สามารถป้องกันและลดการเกิดผดผื่นได้โดย
-เสื้อผ้าที่สวมใส่ ควรจะเป็นเนื้อผ้าที่บางเบา
-อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็น
-อาบน้ำ รักษาสุขอนามัย
หากผื่นมีการติดเชื้อ จะมีลักษณะเป็นหนองเม็ดขาวๆ ตามทั่วร่างกาย หากหนองมีลักษณะติดเชื้อมาก แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหารอยโรคและทำการรักษาต่อไป

อาการวูบหน้ามืดจากอากาศร้อน
ผู้สูงอายุหรือผู้ทำงานกลางแจ้งที่อากาศร้อนนานๆ ร่างกายสูญเสียน้ำ หากดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนไม่เพียงพอ จะทำให้มีอาการวูบได้ แต่อาการวูบเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว บางรายก้มหยิบสิ่งของจะมีอาการหน้ามืดได้ ซึ่งถ้านอนพักจะดีขึ้น แต่ถ้าวูบโดยมีอาการนำที่เจ็บหน้าอกร้าวมาแขนด้านซ้าย ขึ้นมาบริเวณกราม หน้ามืดใจสั่น มักเป็นภาวะวูบจากหัวใจขาดเลือด ดังนั้นการป้องกันภาวะวูบควรหลีกเลี่ยงการทำงานในที่ร้อนนานๆ แต่งเครื่องแต่งกายที่ระบายลมได้ง่าย ดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ การเปลี่ยนท่าทางไม่ควรเปลี่ยนเร็ว เพราะจะทำให้เกิดอาการวูบได้ หากพบผู้ที่มีอาการหมดสติ ไม่ควรให้ดื่มน้ำ เพราะจะทำให้เกิดอาการสำลักน้ำได้ หากพบผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ควรโทร 1669 ทันที

อาการตะคริว
อาการตะตริวเกิดจากความร้อน มักมีการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกายในขณะที่เหงื่อออก ดื่มน้ำน้อย เกลือแร่ทดแทนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดตะคริวที่น่อง หรือบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายได้ หากมีอาการให้นั่งพักก่อน และจับยืดขาเหยียดตรง และกดปลายเท้าโน้มหาลำตัว เพื่อให้บริเวณน่องตึง ยืด และคลายได้ และดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศที่เย็น ใช้ผ้าเย็นๆ เช็ดตามหน้า คอและแขน ขา เสื้อผ้าที่สวมใส่ ควรจะเป็นเสื้อผ้าที่บางเบา หากเป็นตะคริวในขณะเล่นน้ำ อาจเป็นสาเหตุของการจมน้ำได้

โรคฮีทสโตรก
มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งที่ร้อนเป็นเวลานาน จะสูญเสียเกลือแร่ ร่างกายอ่อนเพลีย อาเจียน ซึมลง ชักเกร็ง วัดอุณหภูมิร่างกายจะมีไข้ขึ้นสูง ร่างกายไม่สามารถระบายเหงื่อ ส่งผลให้ระบบร่างกายส่วนอื่นๆ ผิดปกติ และทำให้เสียชีวิตได้

การปฐมพยาบาล
– ย้ายผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม จัดให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาสูง
– ถอดเสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือประคบน้ำแข็ง
– นำพัดลมเป่าระบายความร้อน พ่นละอองน้ำฝอย
-โทร 1669

ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
เนื่องจากอากาศร้อน เชื้อแบคทีเรียจะฟักตัว ปล่อยสารพิษออกมา หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิดมีตัวเชื้อปะปนเข้าไปอยู่ในอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป ทำให้เชื้อฟักตัวอยู่ในลำไส้ และทำให้เกิดอาการถ่ายเหลว อาเจียน ปวดท้องได้ สูญเสียเกลือแร่ บางรายถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด และทำให้เกิดอาการช็อคตามมา

อาหารที่ต้องระวัง คือ อาหารที่มีการอุ่นบ่อยๆ อาหารที่วางไว้แล้วไม่มีการคลุมปิดไว้ ทำให้แมลงวันตอม เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป อาจทำให้มีอาการท้องร่วงและอาเจียนได้

การปฐมพยาบาล
หากมีอาการไข้ขึ้นสูงร่วมกับอาเจียน ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด ตัวเย็น หน้าซีด แนะนำรีบให้พบแพทย์ทันที เพราะจะนำสู่ภาวะช็อคได้ หากมีอาการเล็กน้อยให้ปฐมพยาบาลด้วยตัวเองโดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่สำหรับท้องเสีย จิบบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย ไม่ควรรับประทานยาหยุดถ่าย หลีกเลี่ยงการดื่มนม งดทานอาหารรสจัด และงดรับประทานของเปรี้ยว รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัย

การป้องกันการจมน้ำในเด็ก ช่วงหน้าร้อน
ให้ผู้ใหญ่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากเล่นน้ำในที่ลึก ควรมีอุปกรณ์เล่นน้ำ หากมีเด็กจมน้ำ แล้วเราว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรลงไปช่วยเหลือผู้จมน้ำ ควรโทรเรียก 1669 หาไม้ที่มีขนาดยาวยื่นหรือโยนห่วงให้ผู้จมน้ำทันที (ตะโกน โยน ยื่น) นอกจากนี้หากที่บ้านมีโอ่งน้ำ ให้ปิดโอ่งน้ำที่บ้านให้เรียบร้อย และผู้ใหญ่ควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: อ.นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง:นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่