CAMT เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล ร่วมกับคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน)
23 กุมภาพันธ์ 2567
วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดี พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี และหัวหน้าโครงการแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) พร้อมด้วยผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานคณะกรรมการโครงการ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายมณเฑียร บุญตัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ในฐานะผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ร่วมประชุมความคืบหน้าการจัดทำแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) การขยายผลต่อยอดการนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ให้ครอบคลุมไปยัง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมชูให้เป็น Soft Power สู่สากล
ซึ่งแผนงานวิจัยดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของวิทยาลัยฯ ร่วมกับคณะกรรมการโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ทำการออกแบบแพลตฟอร์ม ภายใต้ชื่อ “แพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์” หรือ Creative Lanna Platform เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปช่วยเหลือชุมชน ทั้งการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวที่บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การนำเสนอข้อมูลพื้นฐาน การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านการรวบรวมข้อมูลจากปราชญ์ชุมชนหรือนักสร้างสรรค์ชุมชน ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มดังกล่าวยังจะช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาของชาวบ้าน และยังช่วยส่งเสริมผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงจังหวัดต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กลายเป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมล้านนาร่วมสมัยของประเทศไทย ซึ่งหลังจากการจัดทำและพัฒนาแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ได้ระยะหนึ่งแล้วขณะนี้มีความครบสมบูรณ์และพร้อมที่จะให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของวิทยาลัยฯ ในหัวข้อ SO2: Creative Digital Innovation สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม แบบบูรณาการศาสตร์ ณ ห้องพระยาศรีวิสารวาจา อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567