นักวิจัยคณะวิทย์ มช. และ ม.เกษตรศาสตร์
พัฒนาสมการอัลโลเมตริกชุดใหม่
ใช้ศึกษาปริมาณการสะสมคาร์บอนในต้นไม้ได้อย่างแม่นยำ
มุ่งส่งเสริมกลไกการซื้อขายคาร์บอน สนับสนุนให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
เพื่อกักเก็บคาร์บอน สร้างแรงจูงใจในการช่วยรักษาและฟื้นฟูป่าทุติยภูมิ
นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ New allometric equations for quantifying tree biomass and carbon sequestration in seasonally dry secondary forest in northern Thailand เพื่อพัฒนาสมการอัลโลเมตริกชุดใหม่ โดยเก็บตัวอย่างจากต้นไม้ด้วยวิธีการตัดและชั่งตัวอย่าง (Harvest method) ที่มีความแม่นยำมากที่สุด ในพื้นที่การศึกษา 3 พื้นที่คือ แปลงไร่หมุนเวียนอายุ 4 ปี 7 ปี และป่าทุติยภูมิหลังจากการทำไร่หมุนเวียน โดยมีอายุประมาณ 50 ปี ตัวอย่างต้นไม้ทั้งหมด 136 ต้น (รวมกับต้นไม้ที่มีการแตกหน่อจากต้นเดียวกัน) 23 ชนิด โดยมีขนาดความโตของต้นไม้ ตั้งแต่ 1 ถึง 32.9 เซนติเมตร
ซึ่งตัวอย่างต้นไม้จากการอบและบดละเอียดแล้วจะถูกนำส่งเพื่อวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนในเนื้อไม้แต่ละชนิด รวมถึงการศึกษาความหนาแน่นเนื้อไม้เพื่อใช้เป็นตัวแปรอิสระตัวใหม่ ที่แตกต่างจากสมการอัลโลเมตริกเดิมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
ทั้งนี้ การสร้างสมการอัลโลเมตริกได้ใช้ข้อมูล ขนาดความโตของต้นไม้ (DBH) ความสูง (H) และความหนาแน่นเนื้อไม้ (WD) เป็นตัวแปรอิสระ และค่ามวลชีวภาพของต้นไม้เหนือพื้นดิน (AGB) เป็นตัวแปรตาม
ผลจากการวิเคราะห์ค่าความหนาแน่นเนื้อไม้มีความแตกต่างกันระหว่างชนิดของต้นไม้ (p < 0.05) ส่งผลทำให้เมื่อเพิ่มตัวแปรอิสระ ความหนาแน่นเนื้อไม้เข้าไปในสมการในรูปของ DBH2H x WD มีความสำคัญที่สามารถทำนายค่าตัวแปรตาม AGB และยังช่วยลดความไม่แน่นอนของการประเมินการสะสมมวลชีวภาพเหนือพื้นดินได้
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ค่าปริมาณคาร์บอนของระหว่างชนิดพบว่า มีความแตกต่างกันในทางสถิติ (p < 0.05) ค่าปริมาณคาร์บอนจากการวิเคราะห์โดยเฉลี่ยระหว่างชนิดคือ 44.84% (+/-1.63) ซึ่งทำให้ค่าการคำนวณปริมาณการสะสมคาร์บอนมีความแม่นยำมากขึ้น
การบุกรุกทำลายป่า และการเสื่อมสภาพของป่าไม้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มีส่วนทำให้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ได้เกิดขึ้น เช่น กลไกการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีความสำคัญ และมีส่วนสร้างแรงจูงใจในการช่วยรักษาและฟื้นฟูป่าทุติยภูมิ ดังนั้นการวัดปริมาณการสะสมคาร์บอนที่แม่นยำและมีความน่าเชื่อถือ จึงมีบทบาทสำคัญที่มีส่วนทำให้กลไกนี้บรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ สามารถปิดช่องว่างในการคำนวณมวลชีวภาพและคาร์บอนของต้นไม้ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลได้การประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศร่วมกับประชาคมโลกเพื่อให้เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งสนับสนุนให้เกิดโครงการการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการส่งเสริมกลไกการซื้อขายคาร์บอน โดยสนับสนุนให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นกักเก็บคาร์บอน จึงถือเป็นทางเลือกและโอกาสให้กับเกษตรกรหรือชุมชนจะได้อาศัยกลไกจากโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้จากการดำเนินกิจกรรมการปลูกป่าและการฟื้นฟูป่า ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างดีที่สุด เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ให้ได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถช่วยฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการหนึ่งที่จะส่งเสริมเป้าหมายในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ มีส่วนช่วยในการจัดการป่าไม้ และสามารถทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ยังสามารถช่วยลดความอดอยากของผู้คนได้อย่างดีที่สุด ซึ่งงานวิจัยนี้สามารถนับได้ว่าเป็นหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ 2 13 และ 15
งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสาร
New Forests IF = 2.697 (Q1, ISI/Scopus)
Published: 22 March 2021
ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://doi.org/10.1007/s11056-021-09844-3
รายชื่อนักวิจัย
คณาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: รศ.ดร.ประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงศ์ รศ.ดร.สตีเฟน เอลเลียต ผศ.ดร.สุทธาธร ไชยเรืองศรี
และ ผศ.ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน
ภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: รศ.ดร.วิรงค์ จันทร
ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: ดร.ฐิตินันท์ โพธิ์ทอง