นักวิจัยคณะวิทย์ มช. นำทีมพัฒนาวัสดุผสมที่มีซีเมนต์เป็นฐานกับเซรามิกไพอิโซอิเล็กทริกไร้สารตะกั่วแบเรียมเซอร์โคเนตไทเทเนต เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์และทรานสดิวเซอร์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

24 มิถุนายน 2567

คณะวิทยาศาสตร์

        นักวิจัยคณะวิทย์ ม.เชียงใหม่ นำทีมพัฒนาวัสดุผสมที่มีซีเมนต์เป็นฐานกับเซรามิกไพอิโซอิเล็กทริกไร้สารตะกั่วแบเรียมเซอร์โคเนตไทเทเนต เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์และทรานสดิวเซอร์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้ตรวจสอบสภาพโครงสร้างอาคาร วางแผนการบํารุงรักษา เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร

          งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาวัสดุผสมที่มีซีเมนต์เป็นฐานกับเซรามิกไพอิโซอิเล็กทริกไร้สารตะกั่วแบเรียมเซอร์โคเนตไทเทเนต โดยมีการเพิ่มเฟสที่สามคือพอลิเมอร์ชนิด epoxy resin เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ (sensor) และทรานสดิวเซอร์ (transducer) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบสภาพของโครงสร้าง (structural health monitoring application)

ในการวิจัยนี้ได้ทำการประดิษฐ์วัสดุผสมระบบ 0-3 โดยใช้เซรามิกแบเรียมเซอร์โคเนตไทเทเนต ปริมาณร้อยละ 40 ถึง 60 โดยปริมาตร และใช้พอลิเมอร์ปริมาณร้อยละ 0 ถึง 7 โดยปริมาตร ผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งในการทดลองได้ทำการศึกษาสมบัติของวัสดุผสม เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัสดุโดยการวัด และวิเคราะห์ค่าความต้านทานเสียงเชิงซ้อน ค่าสภาพยอมสัมพัทธ์เชิงไดอิเล็กทริก ค่าการสูญเสียไดอิเล็กทริก ค่าสัมประสิทธิ์ไพอิโซอิเล็กทริกเชิงประจุ และคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์ไพอิโซอิเล็กทริกเชิงความต่างศักย์ ค่าสัมประสิทธิ์การเชื่อมต่อพลังงานกล-ไฟฟ้าเชิงระนาบ และค่าสัมประสิทธิ์การเชื่อมต่อพลังงานกล-ไฟฟ้าเชิงความหนาของวัสดุผสม

จากการทดลองพบว่าวัสดุผสมระบบ 0-3 BZT-ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่เติม epoxy resin เมื่อเพิ่มปริมาณ epoxy resin ส่งผลให้ค่าความต้านทานเสียงเซิงซ้อนลดลง ดังนั้นค่าความต้านทานเสียงเชิงซ้อนจึงมีค่าใกล้เคียงกับโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุผสมที่มีปริมาณ BZT ร้อยละ 60 โดยปริมาตร และปริมาณ epoxy resin ในช่วงร้อยละ 3 ถึง ร้อยละ 7 โดยปริมาตรมีค่าความต้านทานเสียงเชิงซ้อนอยู่ในช่วงเดียวกับคอนกรีต

เมื่อเพิ่มปริมาณ epoxy resin ส่งผลให้ค่าสภาพยอมสัมพัทธ์เชิงไดอิเล็กทริก ค่าการสูญเสียไดอิเล็กทริก และค่าสัมประสิทธิ์ไพอิโซอิเล็กทริกเชิงประจุ ลดลง นอกจากนี้ เมื่อเพิ่มปริมาณ epoxy resin ในช่วงร้อยละ 0 ถึง 3 โดยปริมาตรส่งผลให้ค่าสัมประสิทธิ์ไพอิโซอิเล็กทริกเชิงความต่างศักย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อเพิ่มปริมาณ epoxy resin ในช่วงร้อยละ 3 ถึง 7 โดยปริมาตรส่งผลให้ค่าสัมประสิทธิ์ไพอิโซอิเล็กทริกเชิงความต่างศักย์ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เมื่อเพิ่มปริมาณ BZT และ epoxy resin ส่งผลให้ค่า kp และค่า kt เพิ่มขึ้น และมีค่า kp และค่า kt สูงที่สุดที่ปริมาณ BZT ร้อยละ 60 โดยปริมาตรและปริมาณ epoxy resin ร้อยละ 7 โดยปริมาตร นอกจากนี้วัสดุผสมระบบ 0-3 BZT-ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่เติม epoxy resin มีค่าความต้านทานเสียงเชิงซ้อน และค่าสัมประสิทธิ์ไพอิโซอิเล็กทริกเชิงความต่างศักย์ที่เหมาะสมที่สุด ที่ปริมาณเซรามิกร้อยละ 50 โดยปริมาตร และปริมาณ epoxy resin ร้อยละ 3 โดยปริมาตร

การพัฒนาวัสดุผสมที่มีซีเมนต์เป็นฐานกับเซรามิกไพอิโซอิเล็กทริกไร้สารตะกั่วแบเรียมเซอร์โคเนตไทเทเนต โดยมีการเพิ่มเฟสที่สามคือ epoxy resin ทำให้วัสดุผสมมีค่าความต้านทานเสียงเชิงซ้อนอยู่ในช่วงเดียวกับคอนกรีต มีสมบัติเพียโซอิเล็กทริกที่ดี และมีค่า kt และ kp เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าวัสดุผสมที่ได้พัฒนาขึ้นนี้มีความสามารถในการถ่ายโอนทางไฟฟ้า-เชิงกลค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์(sensor) และทรานสดิวเซอร์ (transducer) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบสภาพของโครงสร้าง (structural health monitoring application) ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยวางแผนการบํารุงรักษา เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยภายในอาคารและทรัพย์สิน

ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Ceramics International
Volume 49, Issue 11, Part B, 1 June 2023
https://doi.org/10.1016/j.ceramint.2023.02.188

ทีมวิจัย
ดร.ธันยพร วิตตินานนท์ (บัณฑิตปริญญาเอก สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่)
ผศ.ดร.รัตติยากร เรียนยอย ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ผศ.ดร.รวมพร โพธิ์ทอง สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
Prof. Dr. Huang Hsing Pan, Department of Civil Engineering, National Kaohsiung University of Science and Technology, Kaohsiung, Taiwan
ศ.ดร.อานนท์ ชัยพานิช ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่


แกลลอรี่