คณะวิทย์ มช. แถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์”

26 สิงหาคม 2562

คณะวิทยาศาสตร์

             คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะนักวิจัย นำโดย อาจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมด้วยนางสาวอานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ร่วมแถลงข่าว ในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2562 ณ โถงชั้น 1 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์

ด้วยคณะนักวิจัย นำโดย อาจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมด้วยนางสาวอานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำหนังสือพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย (Flora of Thailand) และได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือชื่อใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่

ในการวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก (new species) ในสกุลมหาพรหม (Mitrephora (Blume) Hook.f. & Thomson) จากป่าบนเขาหินปูนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพืชชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 2 เมตร มีดอกขนาดเล็กที่สุดในสกุล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร สีขาวเด่น และเปลี่ยนเป็นสีครีมเมื่อดอกมีอายุมากขึ้น มีกลิ่นหอมปานกลางคล้ายกลิ่นดอกโมก กลีบดอกชั้นในประกบกันเป็นรูปโดม โคนกลีบคอด เผยให้เห็นช่องว่างระหว่างกลีบ ผลเมื่อสุกสีแดงอมส้ม

ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงสนพระทัยการศึกษาวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสหสาขาวิทยาศาสตร์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยทรงริเริ่มการก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ในสาขาดังกล่าว อันมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ กอปรกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้กราบทูลขอพระราชทานนามไทย “พรหมจุฬาภรณ์” สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ และกราบทูลขอพระราชทานนามระบุชนิด “chulabhorniana” เพื่อเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora chulabhorniana Damth., Aongyong & Chaowasku และได้รับพระราชทานนามทั้งสอง อันเป็นเกียรติแก่คณะผู้วิจัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

พรหมจุฬาภรณ์ หรือ Mitrephora chulabhorniana Damth., Aongyong & Chaowasku ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Brittonia เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด (critically endangered) พบเพียงไม่กี่ต้น บริเวณป่าดิบแล้งบนเขาหินปูนขนาดเล็กในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบบนิเวศเขาหินปูนนั้นเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และมักพบสิ่งมีชีวิตที่จำเพาะ กล่าวคือ ไม่พบที่อื่นใดอีก เมื่อถูกคุกคามมีโอกาสสูญพันธุ์สูง เขาหินปูนลูกที่พบต้นพรหมจุฬาภรณ์นี้มีโอกาสถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการขยายตัวของสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งการระเบิดหินปูนเพื่อการใช้ประโยชน์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งประชาชนคนไทยทุกคน จักต้องช่วยกันหวงแหนเขาหินปูนในประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อช่วยขยายพันธุ์ต้นพรหมจุฬาภรณ์ให้มีจำนวนมากขึ้น และนำไปปลูกอนุรักษ์ไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นการลดโอกาสการสูญพันธุ์ของต้นพรหมจุฬาภรณ์

การค้นพบ “พรหมจุฬาภรณ์” นี้ จัดได้ว่าเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดในสาขาต่าง ๆ เปรียบเสมือนกับต้นน้ำที่ค่อย ๆ ไหลไปยังกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งก็คือการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ถ้าขาดพื้นฐาน ประเทศชาติย่อมขาดโอกาสในการพัฒนาต่อยอด การพัฒนายารักษาโรคจากพืชสมุนไพร ก็เป็นหนึ่งในแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พบว่าพืชสกุลมหาพรหมหลายชนิดมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าต้นพรหมจุฬาภรณ์ก็อาจจะมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งและอาจพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งได้ในอนาคต ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งและพัฒนายาต้านมะเร็งเป็นหนึ่งในพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

แกลลอรี่