มช. ร่วมแรงร่วมใจดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษา ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของนักศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และ ประเทศ

30 กรกฎาคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

“ยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 มุ่งสร้างบัณฑิตที่เป็นพลเมืองโลก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยการเพิ่มรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สำหรับคนทุกช่วงวัย เน้นการบูรณาการพันธกิจหลัก 3 ด้าน คือ การจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการตามศักยภาพที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการเป็นพลเมืองโลกที่คำนึงถึงประเด็นสำคัญของประเทศและโลก สามารถทำงานเพื่อสังคม หรือสร้างธุรกิจใหม่บนพื้นฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมได้ และภายใต้การบูรณาการตามศักยภาพเชิงรุกของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ และด้านล้านนาสร้างสรรค์ ทำให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจเกิดใหม่ สร้างผู้ประกอบการใหม่ สนับสนุนศักยภาพของ SMEs และนำศักยภาพจากยุทธศาสตร์เชิงรุกทั้ง 3 ด้าน สู่การพัฒนาและยกระดับของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 -ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดแนวทางพัฒนาด้านการจัดการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ การบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม จากศักยภาพความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยภายใต้การบริหารจัดการด้าน นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมและพลังงาน อาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนล้านนาสร้างสรรค์


ด้านการจัดการศึกษา:  ผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพและมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก เน้นการพัฒนาและควบคุมคุณภาพหลักสูตรในระดับปริญญาตรี-โท-เอกของทุกคณะและวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการพัฒนาบรรยากาศความเป็นนานาชาติภายในมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับความเป็นสากลและเสริมสร้างทักษะความเป็นพลเมืองโลก โดยได้ปรับการจัดการเรียนรู้หมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้สอดคล้องกับทักษะการเป็นพลเมืองโลก ในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักศึกษาทุกคน ให้สามารถทำงานเพื่อสังคม หรือสร้างธุรกิจใหม่บนพื้นฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมได้ ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 4.23/5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และภาวการณ์มีงานทำของบัณฑิตที่จบการศึกษาภายใน 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 75 (ค่าเฉลี่ยปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562) นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU School of Lifelong Education) โดยไม่มุ่งเน้นการให้ปริญญาแต่สามารถสะสมใน Credit Bank เพื่อเทียบโอนเป็นปริญญาในอนาคต เน้นการพัฒนาคนทุกช่วงวัย และศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ (Teaching and Learning Innovation Center :TLIC) เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องด้วยนวัตกรรม 


ด้านการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม:  ผลิตผลงานวิจัยหลายสาขา เน้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ชุมชนและสังคมสามารถนำไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคต อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัย Quantum Computing ร่วมกับสถาบันอื่นๆ เพื่อให้เกิด Quantum Research Center ในระดับประเทศ เทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลงที่อยู่ภายในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (UTD RF) ได้อย่างครบวงจรโดยไม่ใช้สารเคมี การพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีผลผลิตสูง ระบบรากฟันเทียม Novem ที่สามารถใส่ครอบฟันได้ทันทีหลังการผ่าตัดฝังรากเทียมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจากเดิมที่ต้องรออย่างน้อย 3 เดือน นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ช่วยเหลือด้านการแพทย์ หรือบริหารจัดการแก่กลุ่มเสี่ยง ตลอดจนผู้ป่วยในช่วงไวรัส COVID-19 แพร่ระบาด นอกจากนี้มีการสนับสนุนการเพิ่มทักษะความสามารถของบุคลากรรวมถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยผ่านทุนการศึกษาอธิการบดี (Presidential CMU Scholarship) สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติในระดับปริญญาโท-เอก จำนวน 200 ทุน และ Post-Doc จำนวน 50 ทุน ให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจเกิดใหม่ สร้างผู้ประกอบการใหม่ สนับสนุนศักยภาพของ SMEs 


ด้านบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม:   สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมชุมชน ถ่ายทอดสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นล้านนา ชุมชนด้อยโอกาสในพื้นที่สูง ได้แก่ อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม อ.พร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชน จ.น่าน ตลอดจน ชุมชน ต.ศรีบัวบาน จังหวัดลำพูน รวมทั้งชุมชนในเมืองเชียงใหม่


ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน :  ดำเนินการเชิงรุกในการพัฒนาระบบกายภาพอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีเป็น Green and Clean University พร้อมการปลูกฝังจิตสำนึกให้นักศึกษา บุคลากร และกลุ่มชุมชนเป้าหมาย ได้ตระหนักในการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นต้นแบบของ Smart City เช่น การบริหารจัดการขยะชีวมวลแบบครบวงจร การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การผลิตพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้สามารถลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ลงได้


ด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ:   มุ่งเน้นการเป็นต้นแบบด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) โดยการพัฒนาระบบตั้งแต่วัตถุดิบ การปลูกพืชผลทางการเกษตร และการพัฒนาร้านค้าการปรุงอาหารให้มีมาตรฐานตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งได้จัดสร้างศูนย์อาหารมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมสถานที่จำหน่ายอาหารสุขภาพถูกหลักอนามัย ให้นักศึกษา บุคลากร และประชาชนได้รับประทาน โดยเป็นอาคาร 2 ชั้นที่รองรับผู้มาใช้บริการได้กว่า 2,000 ที่นั่ง นอกจากนี้ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อยกระดับสถานประกอบการ OTOP/SME ปัจจุบันสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และสร้างนวัตกรรมรวมถึงธุรกิจเกิดใหม่ (Start up) ได้ อีกทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (CMU Senior Wellness Center) ที่มีบทบาทด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยตรงเพื่อเตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเพื่อยกระดับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical hub) ของจังหวัดเชียงใหม่ 


ด้านล้านนาสร้างสรรค์:   พัฒนาองค์ความรู้ด้านล้านนาและการสร้างนวัตกรรมร่วมสมัย เพื่อเป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์วัฒนธรรมล้านนา ต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่สร้างมูลค่าจากสินค้า บริการ หรือการท่องเที่ยวในชุมชนล้านนา โดยมีการสร้างและรวบรวมองค์ความรู้พร้อมใช้เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ให้ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดและเติบโตด้วยตนเองได้ โดยที่ผ่านมาสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวและการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และปัจจุบันกำลังเตรียมการสร้างโครงการการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (Creative District) และศูนย์ออกแบบและพัฒนางานล้านนาสร้างสรรค์ (CLDC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการต่อยอดทางเศรษฐกิจ. 

แกลลอรี่